วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี : ศึกษากรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555



การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี : ศึกษากรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่  18  มีนาคม  2555
บทความโดย
:นายรหัส แสงผ่อง   นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(สื่อสารการเมือง)
                                                                                     
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
            การกระจายอำนาจทางการปกครองมีความสำคัญต่อการพัฒนาชนบท  เพราะเป็นการมอบอำนาจการปกครองให้คนในท้องถิ่น  มีอิสระในการปกครองตนเอง  การบริหารท้องถิ่นมีงบประมาณของตนเอง  มีเจ้าหน้าที่ของตนเอง  และมีฐานะเป็นนิติบุคคล  รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันมีอยู่ 
5  แบบ  ดังนี้คือ 1.)องค์การบริหารส่วนจังหวัด  2.)เทศบาล  (นคร  เมือง  ตำบล)  3.)องค์การบริหารส่วนตำบล  4.)กรุงเทพมหานคร  และ5.)เมืองพัทยา  การกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปี  2540  ได้นำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในระดับรากหญ้ามากยิ่งขึ้น  คือองค์การบริหารส่วนตำบล  การมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับนี้ถือเป็นการสร้างสถาบันประชาธิปไตยในระดับพื้นฐาน  รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนอีกด้วย  และที่สำคัญเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาคประชาชน(ลิขิต  ธีรเวคิน,2554:301)
            เมื่อพิจารณากระบวนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)  ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด  มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มีเขตเลือกตั้งกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด  มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก  และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก  ดังเช่น  กรณีจังหวัดกาญจนบุรี  แคว้นโบราณ  ด่านเจดีย์  มณีเมืองกาญจน์  สะพานข้ามแม่น้ำแคว  แหล่งแร่น้ำตก  กาญจนบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันตกที่มีผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว เพราะเต็มไปด้วยเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจ เป็นแหล่งอารยะธรรมเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสถานที่ตั้งของสะพานข้ามแม่น้ำแควซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ของไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่น่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ป่าเขาลำเนาไพร ถ้ำหรือน้ำตก สภาพทั่วไปกาญจนบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพฯตามเส้นทางเพชรเกษมสายนครปฐม-บ้านโป่งกาญจนบุรี  ประมาณ 129 กิโลเมตร โดยเฉพาะชายแดน ที่ติดกับประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์ตลอดแนวระยะทาง  ประมาณ  370  กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 19,483  ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ  12,176,968  ไร่  มีพื้นที่มากเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศรองจากจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดเชียงใหม่  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขา  กลุ่มเขา  ป่าไม้และแม่น้ำ  เขตการปกครองออกเป็น13 อำเภอ 95 ตำบล 959 หมู่บ้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 2 แห่งเทศบาลตำบล 39 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 80 แห่ง(สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี,2554:10-12)

            ประชากร  จำนวน  841,633  คน  แยกเป็น  เพศชาย 423,375 คน ประชากรเพศหญิง 418,258 คน  อัตราความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างต่ำโดยเฉลี่ยประมาณ 43  คนต่อตารางกิโลเมตร (ที่ทำการปกครองจังหวัดกาญจนบุรี,2554)  จังหวัดกาญจนบุรีมีจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ราว  467,056 คน มี ส.ส.ได้ 5 คน  และแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 5 เขต หน่วยเลือกตั้ง 996 หน่วย ใน 13 อำเภอ   และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้หนึ่งคน  ดังนั้น การเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี 1 คน เท่ากับเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 5 คน การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (election campaign) นายก อบจ.กาญจนบุรี จึงมีความสำคัญสูงสุด สำหรับการปกครองในส่วนท้องถิ่น  การเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี  เมื่อวันที่  18  มีนาคม  2555  ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายรังสรรค์  รัศมีฤกษ์เศรษฐ์  อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี ผู้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์และมีประสบการณ์ทางการเมืองท้องถิ่น  ได้คะแนนเลือกตั้ง  183,513  คะแนน  ในขณะที่คู่แข่งขันคือ  พล.โท มะ โพธิ์งาม  ผู้ท้าชิงจากพรรครัฐบาลเพื่อไทยอดีต ส.ส. กาญจนบุรีเขต1 สมัยพรรคไทยรักไทย  เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น10  รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชิณวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี  และมีประสบการณ์ทางการเมืองระดับชาติ  ได้รับคะแนนเลือกตั้ง  141,831 คะแนน (คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาญจนบุรี,18 มีนาคม 2555)  จากการศึกษาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี  เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555  ได้พบว่า  ผู้ชนะการเลือกตั้งได้ใช้ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในมิติใหม่  ซึ่งไม่เคยปรากฏในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาก่อน  มีลักษณะคล้ายคลึงกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับชาติของพรรคไทยรักไทย  ซึ่งใช้แนวทางการตลาดทางการเมือง(political  marketing)  และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปทั้งสองครั้งติดต่อกัน คือการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544  และเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 (นันทนา  นันทวโรภาส, 2549:17)

            ผลการเลือกตั้งดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าการใช้ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้กรอบความคิดทางการเมืองที่พรรคไทยรักไทยได้รับความสำเร็จในการเลือกตั้งระดับชาติสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและน่าเชื่อว่าการใช้ยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง  โดยใช้กรอบความคิดการตลาดการเมืองส่งผลต่อการได้รับความสำเร็จในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้แนวทางการตลาดทางการเมืองในการเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี  จึงมีความน่าสนใจที่ควรค่าแก่การศึกษา เพื่อให้ทราบถึงบริบททางการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายก อบจ.กาญจนบุรี  ตลอดจนกระบวนการสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการ ที่นำมาใช้ในการ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง  อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษารัฐศาสตร์ ด้านการสื่อสารทางการเมือง
(Political  Communication) ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ในภาควิชาการสื่อสารทางการเมือง ให้ขยายขอบเขตกว้างขวางและลึกซึ้งสู่ระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย
 
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
            (
1)  เพื่อศึกษาถึงบริบททางการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี  เมื่อวันที่  18  มีนาคม  2555
            (
2)  เพื่อศึกษาถึงกระบวนสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี  ทั้งรูปแบบ  เนื้อหา  และวิธีการ
แนวคิดทฤษฎี

การวิจัยครั้งนี้ใช้ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ ประเด็นการวิจัย ดังนี้
          (1) ทฤษฎีการสื่อสารทางการเมือง(Political  Communication  Theory)  ความเป็นมาของการสื่อสารทางการเมืองถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ  ตามหลักฐานที่บันทึกไว้ในราว 500 ปีก่อนคริสตกาล  อริสโตเติลได้กล่าวว่า “การสื่อสารคือการแสวงหาวิธีการจูงใจทุกรูปแบบ” เดวิด เค เบอร์โล (David K. Berlo) กล่าวถึงความหมายของการสื่อสาร  หมายถึง การส่งข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่ง  หรือกลุ่มบุคคลไปยังอีกบุคคลหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่ง  ผ่านกระบวนการ(process)  ที่ประกอบด้วยผู้ส่งสาร  สาร  ผู้รับสาร  ช่องทาง  และผู้รับสาร  และเป็นกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  ไม่อยู่นิ่งและไม่มีจุดเริ่มต้นหรือจุดจบที่ชัดเจน  และยังมองถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการสื่อสารไว้ 5 ประการ  ในกระบวนการสื่อสาร  ได้แก่  ทักษะในการสื่อสาร(communication  skills)  ทัศนคติ(attitudes)  ความรู้(knowledge)  ระบบสังคม(social  system)  ระบบสังคมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการสื่อสารของบุคคลและวัฒนธรรม(culture) เป็นความเชื่อ  ค่านิยม  ขนบธรรมเนียมประเพณีที่เหมือนหรือต่างกัน(David K. Berlo,1960:7-12)  แม้ว่าการสื่อสารทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่มีมายาวนาน  แต่ศาสตร์แห่งการสื่อสารทางการเมือง  กลับเป็นเรื่องใหม่ที่มีการศึกษาอย่างกว้าขวางเมื่อไม่นานมานี้  การสื่อสารทางการเมืองที่ได้รับการศึกษาในฐานะศาสตร์นั้น  เริ่มต้นพร้อมกับการเกิดของสื่อโทรทัศน์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เพราะพลังอำนาจของสื่อโทรทัศน์ที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อผู้ที่รับชม  ทำให้นักการเมืองมองเห็นช่องทางการสื่อสารที่สำคัญนี้  จึงหยิบมาใช้ในทางการเมือง  โดยเริ่มต้นจาก  นายพลไอเซนฮาวร์(Dwight D. Eisenhower)  ที่ใช้สื่อโทรทัศน์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง  ประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1956 และตามมาด้วย จอห์น เอฟ เคนเนดี้(John F Kennedy) ใน ค.ศ. 1960  ซึ่งในกรณีของ เคนเนดี้นั้น  นับเป็นตัวอย่างของการใช้โทรทัศน์เป็นสื่อในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยจอห์น เอฟ เคนเนดี้ได้โต้วาที(Debates)  กับรองประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน(Richard  Nixon) ซึ่งเป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันมากกว่า  แต่จากการปรากฏตัวการวางบุคลิก และการพูดที่โดดเด่นกว่าของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้  ที่ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อโทรทัศน์ไปยังชาวอเมริกันกว่าร้อยล้านคน  สร้างความประทับใจอย่างสูง  จนส่งผลให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในที่สุด(เสถียร  เชยประดับ,2540:1)  การสื่อสารทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบการเมืองทฤษฎีการสื่อสารทางการเมืองของไบอัน  แม็กแนร์(Brian McNair)  อธิบายว่า  การสื่อสารทางการเมืองนั้น  เริ่มต้นจากองค์กรทางการเมือง  อันได้แก่  นักการเมือง  พรรคการเมือง  กลุ่มผลประโยชน์  กลุ่มก่อการร้ายฯลฯ  ส่งสารไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ อันได้แก่  โทรทัศน์  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  เพื่อให้สื่อมวลชนส่งข้อมูลต่างๆเหล่านั้นไปยังประชาชน  ซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ส่งจากนักการเมืองนั้น  สื่อมวลชนอาจจะนำเสนอ หรือไม่นำเสนอ หรือนำเสนอเป็นบางส่วนก็ได้  ขณะเดียวกันสื่อมวลชนก็อาจทำหน้าที่เป็นแหล่งสารเอง  โดยการนำเสนอบทบรรณาธิการคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์การเมือง  ส่งไปยังผู้อ่าน  ซึ่งมีสถานะเป็นผู้รับสาร  แต่ในทำนองกลับกัน  ประชาชนก็อาจทำหน้าที่ผู้ส่งสารโดยการส่งจดหมายร้องเรียน  เดินขบวนประท้วง  เพื่อให้สื่อมวลชนส่งสารนั้นไปยังนักการเมือง( Brian McNair,1999:4)

         (
2) ทฤษฎีการตลาดทางการเมือง(Political  Marketing  Theory)  เจนนิเฟอร์ ลีส์ มาร์ชเมนต์(Jennifer  Lees-Marshment)  นิยามการตลาดทางการเมืองว่าหมายถึง การที่องค์การทางการเมือง(พรรคการเมือง/กลุ่มผลประโยชน์  องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ได้นำเอาแนวคิดและเทคนิคทางการตลาดขององค์กรธุรกิจเข้ามาประยุกต์ใช้  ในการค้นหาความต้องการของประชาชน  รวมทั้งการสื่อสาร  เพื่อเสนอขาย “ผลิตภัณฑ์”อย่างมีประสิทธิภาพ  อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเมือง(Jennifer  Lees-Marshment ,2001:692)  การนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ในการรณรงค์ทางการเมือง  เป็นปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นในครั้ง หลังของศตวรรษที่ 20  การนำสื่อมวลชนและเทคนิคด้านการตลาดมาใช้ในการรณรงค์ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ  การตลาดทางการเมือง หมายถึง การนำตลาดที่หมายถึงการตอบสนองความต้องการในการสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค และต่อองค์กรธุรกิจที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ (product) หรือบริการ (service) มารวมกับการเมืองที่ยังไม่มีการคิดถึงผลกำไรหรือขาดทุน จัดสรรทรัพยากรในสังคมได้เหมาะสมเท่าเทียมหรือเหลื่อมล้ำกันให้น้อยที่สุด  การตลาดทางการเมืองจึงเป็นวิธีการจูงใจ เพื่อผลักดันส่งเสริมนักการเมืองและนโยบายพรรคการเมืองนำเครื่องมือสื่อสารมาใช้โฆษณาและประชาสัมพันธ์ จึงเปรียบได้กับองค์กรธุรกิจที่มุ่งผลักดัน สนับสนุน ผลิตภัณฑ์หรือบริการของตน แต่มีความแตกต่างกันตรงที่เป้าหมายปลายทาง เนื่องจากพรรคการเมืองต้องการคะแนนเสียงในขณะที่องค์กรธุรกิจต้องการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ  ให้นำมาซึ่งผลกำไรและรายได้สูงสุดที่มากกว่าต้นทุนของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น เพื่อการอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งพรรคการเมืองไม่สามารถคิดเรื่องต้นทุนกำไรได้  แต่ก็มีจุดเหมือนคือความต้องการอยู่รอดของพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันการเมือง(นันทนา นันทวโรภาส, 2548:168)

           Bruce I. Newman อธิบายว่า การตลาด คือ กระบวนการแลกเปลี่ยนโดยมีหลักการสำคัญคือผู้ขายหรือเจ้าของธุรกิจนำสินค้าหรือบริการไปแลกเอาเงินจากผู้ซื้อหรือผู้บริโภค และวิธีการแลกเปลี่ยนนั้นผู้ขายนำเนินการโดยใช้กลยุทธ์การตลาด ซึ่งประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ (4Ps)  ซึ่ง P แรก คือสินค้าหรือบริการ (Product or Service) P ที่สอง คือการส่งเสริมการตลาด (Promotion) P ที่สาม คือการกำหนดราคา (Pricing) และ P สุดท้าย คือช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) ซึ่งหลักการของการตลาดทางธุรกิจนั้นไม่แตกต่างกับหลักการตลาดทางการเมือง กล่าวคือบริษัทที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีเข็มมุ่งทางการตลาดโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบสนองความพอใจของลูกค้า พยายามที่จะเสนอแนวทางที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิต และสร้างประโยชน์สูงสุดด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ในขณะที่พรรคการเมืองขายความคิดและตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยพยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เลือกตั้งตัดสินใจซื้อวิสัยทัศน์ที่นำเสนอ(Bruce I. Newman,1994:8-13)  จากแนวคิดได้มีการนำไปจัดทำนโยบายและทำการตลาดกับผู้เลือกตั้ง  จากหลัก 4Ps ทางการตลาดได้ถูกนำมาประยุกต์เป็นหลัก 4Ps  ทางการเมือง ดังนี้ คือ  1.)ผลิตภัณฑ์(Product) ผลิตภัณฑ์สำหรับพรรคการเมือง ได้แก่ นโยบายและผู้สมัครถือว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับแผนการทางการเมือง  2.)การตลาดแบบผลักดัน(Push Marketing) เป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายและผู้สมัครผ่านไปทางกลไกของพรรค สู่สมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนพรรคในระดับท้องถิ่น โดยใช้สื่อของพรรคเป็นหลัก  3.)การตลาดแบบดึงดูด(Pull Marketing) เป็นการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชนเป็นหลัก ได้แก่ หนังสือหนังสือพิมพ์,วิทยุและโทรทัศน์  และ4.)การสำรวจความคิดเห็น(Polling) เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการที่จะได้ข้อมูลเพื่อนำมาทำนโยบายและตรวจสอบประสิทธิผลของการรณรงค์(นันทนา นันทวโรภาส, 2548:22-24)

            (3) ทฤษฎีการสื่อสารสองจังหวะ(Two-step flow Theory) เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญยิ่งในวงการค้นคว้าสื่อสารมวลชน ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  Two - step flow hypothesis ค้นพบโดย Paul F. Lazarsfeld และคณะ (Lazarsfeld เป็นนักสังคมวิทยา ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดา" หรือ "Founding father" วางรากฐานการค้นคว้าทางสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง) เดิมทีเดียว Lazarsfeld และคณะต้องการที่จะศึกษาดูว่าสื่อมวลชน (Mass media) มีอิทธิพล(Effect) ต่อการเปลี่ยนแปลงความตั้งใจ(Intention) หรือการตัดสินใจของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในสมัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมัย ค.. 1940 จริงหรือไม่   อีกนัยหนึ่ง Lazarsfeld และคณะมุ่งวิจัยอิทธิพลของสื่อมวลชนตามทรรศนะของHypodermic needle hypothesis การวิจัยครั้งนี้นับว่าเป็นโครงการใหญ่โต มีการวางระเบียบวิจัยอย่างรอบคอบและอาศัยกำลังคนและเงินมาก Lazarsfeld ใช้การสำรวจวิจัยที่เรียกว่า Panel study (คือ สัมภาษณ์บุคคลคนเดียวซ้ำกันในช่วงระยะเวลาแตกต่างกัน) ประกอบด้วยกลุ่มควบคุม(Control groups) ถึง 3 กลุ่ม สุ่มตัวอย่าง ทั้งหมดร่วม 3,000 คน ใช้ระยะเวลาวิจัยถึงหกเดือนก่อนมีการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามผลที่ได้รับเป็นที่แปลกใจแก่ผู้วิจัยอย่างมาก แทนที่จะพบว่า สื่อมวลชนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งตามที่คาดหมายไว้ Lazarsfeld และคณะกลับพบว่า " ความคิด(Ideas) กระจาย(Flow) จากวิทยุและสิ่งพิมพ์ไปยังผู้นำด้านความเห็น(Opinion leaders) จากนั้นจึงกระจายต่อไปถึงประชาชนทั่วไป"(Paul Lazarsfeld, B. Berelson and H. Gauded,1944) คณะผู้วิจัยพบว่าผู้นำด้านความเห็นหรือ Opinion leaders นั้นอ่านและรับฟังข่าวสารเกี่ยวกับการรณรงค์หาเสียงมากกว่าประชาชนธรรมดาทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า ในระหว่างกลุ่มผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่ได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมในการลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนไม่เท่าไรนั้น ส่วนมากรายงานว่าได้รับอิทธิพลและการชักจูงจากบุคคลอื่นมิใช่จากสื่อมวลชน  การค้นพบข้างต้นก็คือว่า สื่อมวลชนแทบไม่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง อิทธิพลส่วนมากมาจากการสื่อสารประเภทตัวต่อตัว ผลนี้ตรงข้ามกับทรรศนะของ Hypodermic needle hypothesis ถ้าวิเคราะห์ในเชิง Two – step flow ก็หมายความว่า การกระจายข่าวสารนั้นเกิดขึ้นสองจังหวะจากสื่อมวลชนไปถึง Opinion leaders จังหวะหนึ่ง แล้วจาก Opinion leaders ไปถึงประชาชนทั่วไปอีกจังหวะหนึ่ง  ดังนั้นจึงเป็นการยากที่สื่อมวลชนจะไปมีอิทธิพลต่อประชาชนทั่วไปได้  เนื่องจากการค้นพบ Two - step flow เกิดขึ้นโดยบังเอิญไม่มีการวางแผนการมาก่อน จึงได้มีการศึกษาวิจัยมากมายในระยะหลังเพื่อทดสอบแนวความคิดและสมมติฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แทบจะกล่าวได้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา Two - step flow เป็นเสมือนจุดรวมหรือแกนกลางในทางความคิดของการวิจัยทางสื่อสารมวลชน(Katz and Lazarsfeld, 1955; Berelson, Lazarsfeld and McPhee, 1954;Coleman,KatzandMenzel,1966andMerton,1949)

              (4) แนวคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์(The patron-client system) ระบบอุปถัมภ์ กับโครงสร้างสังคมไทย  แม้แนวคิดที่ว่าสังคมไทย   มีโครงสร้างหลวม(Thailand Loosely structured Social System) หาแนวคิดที่จะเข้าใจสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้น  แนวคิดการวิเคราะห์ระหว่างระบบอุปถัมภ์กับชั้นทางสังคมโดยความเป็นจริงแล้ว ไม่มีข้อขัดแย้งกัน(compatible) ระบบอุปถัมภ์ในแง่ปรากฎการณ์ที่เป็นจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่ และการยอมรับกันว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างบุคคลต่างชนชั้นกัน อันมีผลทำให้ภาพรวมของการจัดช่วงชั้นขาดความเด่นชัด ทั้งนี้โดยความจริงที่ว่าความสัมพันธ์ทางชนชั้นมีลักษณะเป็นแนวนอนระหว่างกลุ่มคนที่มีชั้นฐานะผลประโยชน์และอำนานร่วมกัน  ในสังคมไทยความสัมพันธ์ทั้ง  2  ระบบอยู่ร่วมกัน หากต้องการเข้าในพลวัตของกลุ่มในระจุลภาค  โดยจำกัดความตามระบบอุปถัมภ์  ผู้ได้ประโยชน์มากคือผู้อุปถัมภ์แต่ผู้อุปถัมภ์จะต้องรับผิดชอบต่อการกินดีอยู่ดีของผู้รับอุปถัมภ์ด้วย  กฎแห่งศีลธรรมของระบบอุปถัมภ์คือ  การตอบแทนซึ่งกันและกันเป็นหลักสำคัญ  แต่ปัจจุบันนี้การเอารัดเอาเปรียบผู้ที่อยู่ในฐานะที่ด้อยกว่ามีมากขึ้น   ผลที่จะเกิดตามมาก็อาจเป็นการรวมตัวของชนชั้นผู้รับอุปถัมภ์เพื่อช่วยเหลือตนเอง   ซึ่งมีลักษณะของการเกิดชั้นทางสังคม  นักวิชาการส่วนมากยอมรับว่ามีระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอุปถัมภ์ในแวดวงของข้าราชการ  ยังคงมีอยู่อย่างชัดแจ้ง  เช่น  ระบบพรรคพวกที่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันของผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์  ประเด็นที่สำคัญคือว่า  ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  มักจะจำกัดกันอยู่ในระดับกลุ่มเล็กๆ หลายๆ กลุ่มที่อาจแข่งขัน หรือร่วมมือกันก็ตาม  แนวคิดเกี่ยวกับระบบอุปถัมภ์ช่วยให้เข้าใจลักษณะพลวัตของสังคมไทยในระดับย่อย(micro level) ที่เป็นที่สนใจและทำให้เกิดความเข้าใจลักษณะโครงสร้างของสังคมไทยในแง่มุมหนึ่ง  อย่างไรก็ตามในอีกแง่มุมหนึ่ง  ในวงวิชาการการศึกษาโครงสร้างทางชนชั้นซึ่งถือว่าเป็นระดับมหภาค(macro  level)  ยังคงเป็นหัวข้อสำคัญ  นั่นย่อมมีความหมายว่า  การศึกษาระบบอุปถัมภ์หรือชั้นทางสังคม(social  class)  ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับสังคมไทย เส้นสายโยงใยของระบบความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ยังคงตัดผ่านเส้นแบ่งของชั้นทางสังคม  และมีผลให้ภาพของสังคมไทยในลักษณะของการแบ่งชนชั้น(class consciousness)  ส่วนหนึ่งยังคงติดอยู่ที่ความเชื่อในเรืองผู้ใหญ่-ผู้น้อย   ผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์   ความกตัญญู  บุญคุณ  แม้ว่าสังคมไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากใน  2  ทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่กล่าวข้างต้น(อมรา พงศาพิชญ์ และ ปรีชา คุวินทร์พันธ์ ,2539:1-8)  ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ แนวคิดและคำศัพท์  คำจำกัดความ คำเรียกขานว่า “ผู้อุปถัมภ์”(patron) เป็นคำที่มีที่มาจากสเปนหมายความว่า บุคคลผู้มีอำนาจ สถานภาพ ฉันทานุมัติ  คำจำกัดความ(sanction) และอิทธิพล คำนี้อาจใช้เรียนนายจ้างหรือผู้สนับสนุนการจัดพิธีกรรมต่าง ๆ และแม้กระทั่งนักบุญองค์อุปถัมภ์ โดยที่บุคคลเหล่านี้จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้ที่มีอำนาจด้อยกว่าหรือเป็น “ผู้รับอุปถัมภ์”(client )ที่ต้องการความช่วยเหลือและการปกป้อง(Foster, 1963) ผู้อุปถัมภ์ให้ประโยชน์โดยหวังจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของสินค้า ความภักดี การสนับสนุนทางการเมืองและบริการในรูปแบบต่างๆ จากผู้รับผู้อุปถัมภ์ของตน (ส่วนใหญ่แล้วผู้อุปถัมภ์หนึ่งคนจะมีผู้รับอุปถัมภ์หลายคนเช่น กรณีของระบบศักดินาไทย ซึ่งเจ้ายายคนหนึ่งจะมีบ่าวไพร่หลายคน หรือกรณีของเจ้าพ่อที่มีลูกน้องหลายคน...ผู้แปล)  ความสัมพันธ์ในเชิงตอบแทนซึ่งกันและกัน(reciprocal relationships) นี้อาจออกมาในรูปที่สัญญาแบบทางการ (formal  contract)  ที่มีการกำหนดสิทธิและข้อผูกพันของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน เช่น  ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างชาวเผ่าต่าง ๆ  ในแอฟริกาตะวันออก(Mair, 1961) หรืออาจออกมาในรูปที่เป็นทางการน้อยกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ในกรณีของสังคมแถบเมดิเตอร์เรเนียนและในละตินอเมริกา โดยทั่วไปในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองฝ่ายคือ ผู้อุปถัมภ์และผู้รับอุปถัมภ์ ฝ่ายหลังมักจะเป็นผู้เสียเปรียบเพราะโดยคำจำกัดความแล้ว ผู้อุปถัมภ์เป็นผู้ที่อ่อนแอกว่าทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง แม้ว่าผู้อุปถัมภ์อาจจะต้องอาศัยผู้ได้รับอุปถัมภ์ของตนอย่างเป็นกลุ่มก้อนในบางสถานการณ์ เช่นการหาเสียงเลือกตั้ง หรือในกรณีพิพาทที่มีการแบ่งพวกเป็นก๊กเป็นเหล่า(อมรา พงศาพิชญ์และปรีชา คุวินทร์พันธ์, 2539:27-28)

ระเบียบวิธีการศึกษาวิจัย

แนวทางการศึกษาวิจัย

           การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ(
qualitative research)  โดยผู้วิจัยเข้าไปใกล้ชิดสถานการณ์และกลุ่มบุคคลที่ศึกษาเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตนเองและด้วยประสบการณ์ตรง  ด้วยความเชื่อมั่นในหลักอัตวิสัย(intersubjectivity) และเก็บข้อมูลเชิงสัญญะ  ประกอบการวิจัยเชิงตีความ(interpretive research)  ใช้เครื่องมือการศึกษาเก็บข้อมูลที่มีความยืดหยุ่นสูงและปรับเปลี่ยนไปตามบริบท จากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก(in-depth interview)  ทั้งแบบเชิงกลุ่มและเชิงเดี่ยว  การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม(non-participant observation) และการศึกษาจากเอกสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ(document studies) โดยใช้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการรวบรวมและเก็บข้อมูล มีการนำเสนอข้อมูลเชิงพรรณนา (Descriptive  Research)(จุมพล  หนิมพานิช, 2551,53)

เครื่องมือการศึกษาวิจัย

          ผู้วิจัยใช้ตนเองเป็นเครื่องมือหลักในการศึกษาวิจัยโดยเข้าสู่แหล่งข้อมูลด้วยตนเอง มีทีมงานคอยสนับสนุนด้านการจัดเก็บข้อมูล มีการวางแผนวิธีการจัดเก็บหรือเข้าหาแหล่งข้อมูลตลอดจนเทคนิคในการจัดเก็บข้อมูล ดังนี้

            การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก(in-depth interview)
            เป็นการสนทนากับผู้ให้ข้อมูลหลัก(
key informance)ได้แก่ ตัวผู้สมัคร 2 ท่าน คือ นายรังสรรค์  รัศมีฤกษ์เศรษฐ์และพล.โท มะ  โพธิ์งาม  นักการเมืองระดับชาติ  ระดับท้องถิ่น  นักวิชาการ  ผู้นำท้องถิ่น และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร  เป็นแบบรายกลุ่มตั้งแต่สองคนขึ้นไป และแบบรายบุคคล โดยมีการตั้งคำถามให้ตรงวัตถุประสงค์ของการวิจัยมากที่สุด การเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงอุปนัยโดยทยอยสะสมข้อมูลจนครบถ้วน รอบด้าน ชัดเจน ถูกต้อง จัดเก็บและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการดำเนินการ ด้านสารสนเทศ ผ่านการใช้การสัมภาษณ์ทั้งแบบมีโครงสร้าง (structured interview) และแบบไม่มีโครงสร้าง(unstructured interview) แบบเป็นทางการหรือกึ่งทางการ (formal or semi-formal interview) ตลอดจนการสนทนาแบบอิสระเป็นไปตามธรรมชาติ (natural conversation)  ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ในรูปแบบการสนทนาระหว่างผู้วิจัยกับผู้ให้ข้อมูลรอง(general  informants) เมื่อต้องการข้อมูลเพิ่มหรือขอคำอธิบายเหตุผลของปรากฏการณ์ต่างๆ(ศิริพร  จิรวัฒน์กุล,2552:141-142)

            การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม(
non-participant observation)
            เป็นการศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูล โดยการสังเกตปรากฏการณ์ หรือบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยผู้วิจัยมิได้เข้าร่วมในบริบทนั้นโดยตรง  เพียงแค่เฝ้าคอยดูแต่ภายนอกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้  เป็นการวิจัยกระบวนการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี  โดยผู้วิจัยสนใจเป็นอย่างยิ่งในเขตพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีว่าเป็นการแข่งขันระดับท้องถิ่นของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง  จึงมิได้เข้าไปร่วมในการรณรงค์ หาเสียงของผู้สมัครแต่อย่างใด แต่สามารถที่จะรับรู้ สังเกตการณ์บริบทในการรณรงค์ต่างๆ ผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สามรถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างครอบคลุมครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย

            การศึกษาจากเอกสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ (document studies)
            เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของผลงานวิจัยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการอ้างอิงหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับความน่าเชื่อถือต่อผลการศึกษาวิจัย ผู้วิจัยจึงได้มีการค้นคว้า และรวบรวมข้อมูล เพิ่มเติมนอกเหนือจากผู้ให้ข้อมูลหลัก อันได้แก่ เอกสารการรณรงค์ของผู้สมัคร เอกสารทางราชการ สื่อสิ่งพิมพ์ เทปบันทึกเสียงและภาพ แผ่นพับ ใบปลิว รูปถ่ายต่างๆ รวมทั้งสื่ออื่นๆ ทุกชนิดที่ผู้สมัครใช้ในการรณรงค์หาเสียง โดยการรวบรวมเป็นหมวดหมู่ จัดเก็บ เพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบร่วมกับข้อมูลหลักที่ได้มา

กลุ่มผู้ให้ข้อมูล

             กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก(key informance)ได้แก่ตัวผู้สมัคร 2 ท่านคือนายรังสรรค์  รัศมีฤกษ์เศรษฐ์และพล.โท มะ  โพธิ์งาม  นักการเมืองระดับชาติ  ระดับท้องถิ่น  นักวิชาการ  ผู้นำท้องถิ่น  และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง  จำนวนประมาณ  20-30  คน รวมทั้งกลุ่มผู้ให้ข้อมูลรอง (general informants) โดยคัดเลือกตามเป้าหมายของการวิจัย และใช้วิธีคัดเลือก 2 วิธีคือ (1) การคัดเลือกโดยพิจารณาเปรียบเทียบ (judgmental sampling) คือการคัดเลือกตามคุณสมบัติไว้ในวัตถุประสงค์ของการวิจัย (2) การคัดเลือกโดยคำแนะนำ (snowball sampling) หรือการคัดเลือกจากกลุ่มตัวอย่างแนะนำบุคคลอื่นๆ ต่อไป

ผลการวิจัย

             การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี  เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555  ระหว่างผู้สมัครหมายเลข 1 นายรังสรรค์  รัศมีฤกษ์เศรษฐ์  กับ ผู้สมัครหมายเลข 2 พล.โท มะ  โพธิ์งาม  เป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง  ครั้งสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี  ประชาชนทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท  ให้ความสนใจและเข้าร่วมในกระบวนการรณรงค์หาเสียงอย่างคึกคัก  สื่อมวลชนท้องถิ่นกล่าวขานว่าเป็นการเลือกตั้งของสองพรรคการเมืองใหญ่ ผลการวิจัยพบว่า

บริบททางการเมือง  เศรษฐกิจและสังคม
 
            บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555
          (1.)การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัด จากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2551 นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ให้กับการเลือกตั้ง นายก อบจ.กาญจนบุรี เพราะสามารถชนะเป็นที่หนึ่งคือ 124,281 คะแนน ชนะ นางอุไรวรรณ   พงษ์ศักดิ์ เป็นอดีต นายก อบจ.กาญจนบุรี ได้คะแนนเป็นที่สองคือ  79,436 คะแนน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 531,869 คน (คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาญจนบุรี, 20 เมษายน 2551โดยกลุ่มผู้สมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกลุ่มนายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ก็ได้รับเลือกมาจำนวนมาก จึงทำให้การบริหารงานในส่วน อบจ.กาญจนบุรี มีความเป็นเอกภาพมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือกตั้ง นายก อบจ.กาญจนบุรีมา ประกอบกับการมีรากฐานที่ดีทางการเมืองระดับท้องถิ่น  การผันตัวเองจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เขตอำเภอสังขละบุรีหลายสมัยติดต่อกัน ลงเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นในระดับอำเภอ ลงสมัครเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสังขละบุรี และครองเก้าอี้นายกเทศมนตรีฯ ถึง 3 สมัย เป็นบุตรชายคนโตของ นายสุนทร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อเสี่ยฮุกนักธุรกิจค้าไม้ชื่อดังระดับประเทศ ซึ่งมีทั้งบารมี อำนาจและทรัพย์สินเหลือล้น ประกอบกับ มีนางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ซึ่งเป็นภรรยาซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นแรงหนุนด้านฐานคะแนนเสียงได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคประชาธิปัตย์ ในภาพลักษณ์พรรคการเมืองที่มีหลักการบริหารที่ซื่อสัตย์ ยุติธรรม โดยการนำอย่างนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองท้องถิ่น  อาจกล่าวได้ว่า การเมืองท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ยึดโยงกับ การเมืองระดับชาติไปโดยสิ้นเชิง  ตลอดระยะเวลาในการครองตำแหน่ง ได้มีการนำนโยบายด้านการเมือง ที่เข้าถึงประชาชน โดยหลักความต่อเนื่อง  และสร้างภาพลักษณ์ใน การเป็นนักการเมืองที่ประชาชนสามารถ พึงพาอาศัยได้ ประกอบกับการสร้างทัศนะที่ดีต่อตนเอง โดยอาศัยช่องทางการสื่อสารทุกด้าน อาทิ ระบบกระจายข่าวของชุมชน การสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น และการเข้าถึงประชาชนโดยผ่านหน่วยงานชุมชน เช่น กลุ่มอาสาพัฒนาหมู่บ้าน เครือข่ายชุมชนต่างๆ  ผู้นำชุมชน  เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จากส่วนกลาง  และระบบเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่น  ได้พบปะพูดคุยอย่างใกล้ชิด ได้นำคำติชม แนะนำในด้านต่างๆ ไปแก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติม อย่างเป็นรูปธรรมได้มากที่สุด ที่สำคัญประชาชนได้มีเวทีในการมีส่วนร่วมทางการเมือง มากขึ้นทั้งจากภายในชุมชนเอง และจากการมีส่วนร่วมผ่านองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควบคู่กันไป
            (2.)การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับชาติ  พบว่า จากผลการเลือกตั้งระดับชาติ ปี 2554ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้จำนวน สส.ของพรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งในจังหวัดกาญจนบุรี ถึง 3 ที่นั่ง จากทั้งหมด 5 ที่นั่งในสภา มีฐานคะแนนเสียงเหนือพรรครัฐบาลอย่างเพื่อไทย โดยขณะนั้นเองการเลือกตั้งระดับชาตินั้นก็ได้รับฐานคะแนนจากการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งฟากฝ่ายประชาธิปัตย์ได้กุมฐานคะแนนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนี้ไว้ก่อนแล้ว การที่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยซึ่งผ่ายแพ้ในสนามระดับชาติของกาญจนบุรีที่หวังจะเข้ามาช่วงชิงในสนามท้องถิ่นกาญจนบุรี ก็เป็นการยากแม้ว่าจะชูนโยบายรัฐบาล มาประชานิยมมากสักแค่ไหน แต่ก็ไม่อาจเจาะฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ได้เลย อาจกล่าวได้ว่าการเมืองท้องถิ่นนั้นผูกโยงเข้ากับการเมืองระดับชาติไป

            (
3.)ความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชน(civil  society) การเมืองภาคพลเมืองหรือการเมืองภาคประชาชน  เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสังคมเปิดและเป็นตัวกระทำทางการเมือง(political  actors) ใหม่ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองและเพิ่มบทบาทอย่างมากมายในระยะเวลาอันสั้น(ณรงค์  บุญสวยขวัญ,2551:52)  ผู้วิจัยพบว่า จังหวัดกาญจนบุรีนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทของการเมืองภาคพลเมือง  ประกอบด้วย  นักวิชาการ  นักธุรกิจหอการค้า  สภาอุตสาหกรรม  กลุ่มองค์การพัฒนาภาคเอกชน(NGO)และในการเลือกตั้ง นายก อบจ.กาญจนบุรี  การเมืองภาคพลเมืองได้แสดงบทบาทเข้ามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง เช่น การจัดแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้านักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ในหัวข้อ การเมืองท้องถิ่นศึกชิงเก้าอี้นายก อบจ.และสมาชิก อบจ.กาญจนบุรี เข้มข้นคู่แข่งนายก อบจ.กาญจน์ “เสธมะ”และ “อดีตนายก รังสรรค์”(มติชนรายวัน, 18 มีนาคม 2555)
            (4.)ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทางการเมือง  การกระจายอำนาจให้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทำให้ผลประโยชน์ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในระดับรากหญ้า  ทำให้เครือข่ายอิทธิพลที่ดำรงอยู่ระหว่างรัฐและสังคม  ต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่  เพื่อให้สามารถอยู่รอด  จนเป็นผู้นำเครือข่าย  ได้เป็นการสร้างสถาบันของเครือข่ายผู้มีอิทธิพลให้เข็มแข็งขึ้น  เครือข่ายผู้ที่มีอิทธิพลท้องถิ่นกับประชาชนเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบคู่แนวดิ่ง  มีลักษณะต่างตอบแทนระหว่าง ผู้อุปถัมภ์(patron) และผู้รับการอุปถัมภ์(client) ผู้อุปถัมภ์มีอำนาจและสถานะที่เหนือกว่าส่งผลให้นโยบายประชานิยมตอบสนองต่อความต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน  ซึ่งเป็นผลมาจากความยากจน  และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจการผูกขาดอำนาจทางการเมือง  และกลไกความสัมพันธ์ส่วนตัวเข้ายึดโยงฐานคะแนนเสียงและกลุ่มการเมืองทำให้ภาพของการอุปถัมภ์ชัดเจนขึ้น  และการดำรงอยู่ของอิทธิพลท้องถิ่น  และนายหน้าทางการเมืองยังคงมีความสำคัญอยู่ในฐานะหัวคะแนนท้องถิ่น  ที่มีบทบาทสำคัญและกำหนดผลการเลือกตั้ง(ณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ,2551:103-155)  ในการเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี  ครั้งนี้พบว่า  มีการเสนอนโยบายในลักษณะประชานิยมและมีการใช้กลไกระบบหัวคะแนนและอิทธิพลของนักการเมืองโดยไม่เปิดเผย

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.กาญจนบุรี

            การวิจัยการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 ผู้วิจัยได้สรุปผลได้  ดังนี้
            ก.การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์
            นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ คืออดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ แต่อยู่และมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี การผันตัวเองจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี  ประกอบกับมี นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.กาญจนบุรี เขต 5 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นภรรยา  ผนึกกำลังลงพื้นที่หาเสียงด้วย การหาเสียงเริ่มด้วยการใช้รถแห่โชว์ตัว ต่อเนื่องจนวันสุดท้ายก่อนการลงคะแนนเสียง เน้นเดินหาเสียงในเขตพื้นที่ชุมชน เช่น อ.ท่าม่วง ท่ามะกา และ อ.เมือง ที่ถือว่ามีคะแนนมาก โดยได้เปรียบในส่วนของผู้สมัคร สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เป็นคนเก่าจำนวนมากกว่าและมีฐานเสียงที่รวมระหว่างประชาธิปัตย์กับการเมืองท้องถิ่นที่มีการสนับสนุนในขณะดำรงตำแหน่งนายก อบจ.กาญจนบุรีสมัยที่แล้ว โดยเน้นขายนโยบายสานงานต่อเพื่อพัฒนากาญจนบุรีสู่เวทีโลก โดยนโยบาย 4 หลัก 5 แนวทาง 9 ยุทธศาสตร์  พัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีเป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยได้ดำเนินกลยุทธ์การรณรงค์(strategies) หาเสียงเลือกตั้ง   การตลาดทางการเมือง ช่วงชิงที่มั่นคู่ต่อสู้ให้มากที่สุด ในเขตพื้นที่นอกฐานเสียง ได้ใช้กลยุทธ์การแบ่งส่วนการตลาด (segmentation strategies) นั้นคือการเจาะเข้าไปในฐานคะแนนเสียงเดิมของคู่แข่งขันโดยใช้การโจมตี จากจุดด้อย(weakness) ของคู่แข่งขันคือพรรคเพื่อไทยในนโยบายที่ไม่อาจทำให้เห็นได้เป็นรูปธรรม  การใช้ระบบหัวคะแนน  การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย(target group) โดยตรง ได้แก่ชนชั้นปัญญาชน กับกลุ่มเกษตรกรรม ด้วยตัวเองประกอบกับการ รุกคืบด้วยการช่วยรณรงค์จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยการนำของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ทำให้สามารถดึงคะแนนจากฐานเสียงคู่แข่งขันมาได้พอสมควรเพียงพอที่จะชนะคู่แข่งได้ ซึ่งได้เลือกใช้กลยุทธ์ส่วนผสมทางการตลาด 4P’s มาใช้ในการรณรงค์หาเสียงในเขตฐานเสียงของคู่ต่อสู้นั้นคือ คือผลิตภัณฑ์ทางการเมือง (product) P ตัวที่สองคือ การตลาดแบบผลักดัน (push marketing) P ตัวที่สามคือ การตลาดแบบดึงดูด (pull marketing) และ P ตัวที่สี่คือ การหยั่งเสียง (polling) (นันทนา นันทวโรภาส, 2548:168)
            ผลิตภัณฑ์ทางการเมือง (product) คือ นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ มีการวางตำแหน่ง(positioning) ให้เป็นผู้นำที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนา มีความสม่ำเสมอในการดูแลพื้นที่  มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ไม่แบ่งแยกฝ่าย และใกล้ชิดเคียงข้างประชาชน ดังคำขวัญที่ใช้หาเสียงที่ว่า ไม่แบ่งแยกร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว พบง่าย  พึ่งได้ คนเดิม  คนดี มีผลงาน” คือ การนำเสนอผลงานของต้นเองที่โดดเด่น โดยเน้นขายนโยบายสานงานต่อเพื่อพัฒนากาญจนบุรีสู่เวทีโลก โดยนโยบาย 4 หลัก 5 แนวทาง 9 ยุทธศาสตร์  พัฒนาจังหวัดกาญจนบุรีเป็นศูนย์กลางแห่งการท่องเที่ยวเศรษฐกิจ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีการสร้างภาพลักษณ์(image) ที่โดดเด่นให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนนั้น  คือผู้ที่เหมาะกับการรับใช้ประชาชนในท้องถิ่น มากกว่าคู่แข่งที่มิได้มีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับท้องถิ่นมากกว่า ผู้วิจัยพบว่า ข้อได้เปรียบจากการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นมายาวนาน ถือเป็นจุดขายที่เหนือ(streng)กว่าคู่แข่ง ประกอบกับนโยบายที่ตรงใจและมีผลงานที่เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ มาโดยตลอด
            การตลาดแบบผลักดัน (push marketing) เป็นการสื่อสารแบบถึงเนื้อถึงตัวเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ground war”  ถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  ไม่ผ่านสื่อมวลชนใดๆ  โดยใช้ช่องทางเครือข่ายของผู้สมัครในระดับรากหญ้า  ได้แก่อาสาสมัคร  เช่น รถแห่  การเคาะประตูบ้าน  การส่งจดหมายตรง  การปรากฏตัวตามงานสังคมต่างๆ  และการเปิดปราศรัยเข้าไปในกลุ่มย่อยๆ และกลุ่มใหญ่สลับกันไป กำหนดปฏิทินการหาเสียงที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ การออกเดินหาเสียง กลุ่มคนระดับรากหญ้า  มีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชน  ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักกัน  ไปมาหาสู่กัน  
            การตลาดแบบดึงดูด (pull marketing) พบว่าใช้การตลาดแบบดึงดูดหรือ  Air War  การวางแผนผลิตสื่อต่างๆ  ที่จะใช้ในการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชนทุกชนิด ได้แก่ ป้ายรณรงค์ แผ่นพับใบปลิว  หนังสือพิมพ์  วิทยุและโทรทัศน์ ประจำท้องถิ่นท้องถิ่น  สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับต้องมีการรณรงค์ของตนลงทุกฉบับ การใช้สื่อทีวีเคเบิ้ล วิทยุ ซึ่งผู้วิจัยพบว่า เป็นการรณรงค์หาเสียงที่ต่อเนื่องมาก
            การหยั่งเสียง(polling) เป็นการสำรวจความคิดเห็นเพื่อใช้ในการตัดสินใจปรับปรุงกลยุทธ์ โดยดำเนินการร่วมกับทีมงาน สำรวจโดยการสอบถามความคิดเห็นและการสังเกตจากความสนใจของผู้เข้าร่วมในการฟังปราศรัย จากนั้นก็ได้มีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินใน ศูนย์ปฏิบัติการ(war room) และศูนย์การสื่อสารข้อมูลในแทบทุกพื้นที่ เพื่อประเมินคะแนนเสียงที่คาดว่าจะได้ทั้งจากพื้นที่และนอกพื้นที่ฐานคะแนนของตน และการสอดส่องการทุจริตของฝ่ายตรงข้าม  ที่สำคัญเพื่อตรวจสอบผลการดำเนินการที่ผ่านมาในทุกพื้นที่และนำมาปรับปรุงแก้ไขกลยุทธ์ เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน  มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่าตนเองมีคะแนนโพลนำคู่แข่งขัน
            ข.การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ พล.ท.มะ โพธิ์งาม
            พล.ท.มะ โพธิ์งาม
  อดีตข้าราชการทหารผู้เป็นที่รู้จักการในจังหวัดกาญจนบุรี  เป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม อดีต ส.ส.กาญจนบุรี และเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี ได้เดินลงพื้นที่หาเสียงแบบเคาะบ้านเช่นกัน ใช้บุคลิกส่วนตัวที่ติดดินเข้าคนง่ายเดินเจาะฐานชุมชนต่างๆ ด้วยตัวเองเช่นกัน ส่วนทีมงานใช้ตัวแทนลงพื้นที่แบบดาวกระจายในทุก อำเภอ ฐานเสียงเป็นฐานของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงกาญจนบุรี ออกมาช่วยอย่างชัดเจน เป็นทหารเก่าและอยู่ในส่วนของฝ่ายบริหาร จึงเป็นจุดที่ทำให้ชื่อของพล.ท.มะ โพธิ์งาม  ติดปากชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว  โดยได้ดำเนินกลยุทธ์การรณรงค์(strategies) หาเสียงเลือกตั้ง   การตลาดทางการเมือง เป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อ ผลักดันโครงการของรัฐบาลให้เกิดรูปธรรมและนำไปสู่การพัฒนากาญจนบุรี ที่จะต้องเป็นศูนย์กลางทางการค้าในอนาคต โดยเน้น การเปลี่ยนแปลงกว่าสี่ปีที่ผ่านมา ด้วยคำขวัญที่ว่า “4 ปีที่พี่น้องประชาชนรอคอยการเปลี่ยนแปลง  ความสามัคคีและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ที่จะทำให้เมืองกาญจน์บ้านเราเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ จากนโยบายงบประมาณและความร่วมมือระดับประเทศ สู่ระดับจังหวัด สู่ท้องถิ่นกระจายถึงพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันและคำว่าคิดดี ทำดี เพื่อกาญจนบุรีบ้านเรา”  (ผู้จัดการ, วันที่ 13 มี.ค. 2555)  จากการวิจัยพบว่า พล.ท.มะ โพธิ์งาม ได้มีนโยบายการรณรงค์หาเสียงที่คล้ายคลึงกันกับ นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์  โดยรูปแบบกลยุทธ์ส่วนผสมทางการตลาด 4 P ‘s มาใช้เช่นกันกล่าวคือ
            ผลิตภัณฑ์ทางการเมือง
(product) คือ พล.ท.มะ โพธิ์งาม ด้วยภาพลักษณ์(image)  ความเป็นทหารมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์ภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  มีประสบการณ์บริหารงาน และตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ  ผู้วิจัยพบว่า ข้อได้เปรียบจากการเป็นนักการเมืองระดับบริหารในพรรคเพื่อไทยผู้กุมอำนาจบริหารประเทศ  ถือเป็นจุดขายที่เหนือ(strength)กว่าคู่แข่ง  นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงนั้นคือ เป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อ ผลักดันโครงการของรัฐบาลให้เกิดรูปธรรมและนำไปสู่การพัฒนากาญจนบุรี  และ 8 ภารกิจ เน้นนโยบายการเปลี่ยนแปลงจากการบริหารงานของนายก อบจ.คนเดิมคือ นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์  จากฐานแห่งความเป็นนักธุรกิจที่มาเล่นการเมืองซึ่งอาจมีการบริหารงานอย่างไม่โปร่งใส ในโครงการต่างๆที่ได้ดำเนินการมาแล้ว และนำเสนอตัวเองในรูปของนักการเมืองที่ซื่อสัตย์โปร่งใส และเป็นข้าราชการทหารที่ปราศจากมลทิน ซึ่งพล.ท.มะ โพธิ์งาม ได้กล่าวปราศรัยในทุกเวทีมาโดยตลอด
            การตลาดแบบผลักดัน (push marketing) เป็นการสื่อสารแบบถึงเนื้อถึงตัวเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ground war”  ถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง  ไม่ผ่านสื่อมวลชนใดๆ  โดยใช้ช่องทางเครือข่ายของผู้สมัครในระดับรากหญ้า  ได้แก่อาสาสมัคร  เช่น รถแห่  การเคาะประตูบ้าน  การส่งจดหมายตรง  การปรากฏตัวตามงานสังคมต่างๆ  และการเปิดปราศรัยเข้าไปในกลุ่มย่อยๆ และกลุ่มใหญ่สลับกันไป กำหนดปฏิทินการหาเสียงที่สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ การออกเดินหาเสียง กลุ่มคนระดับรากหญ้า  มีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชน  ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักกัน  ไปมาหาสู่กัน  ลงพื้นที่โดยทั้งตนเองและทีมงาน ทั้งจากกลุ่มหัวคะแนน,ตัวแทนพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เป็นที่สังเกตได้ว่าได้รับการสนับสนุนจากแนวร่วมคนเสื้อแดงอย่างชัดเจน  ชูนโยบายอ้างอิงไปถึงรัฐบาล,การเพิ่มงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาจังหวัด และผลงานที่สร้างความเจริญรุ่งเรืองครั้งสมัยเป็นพรรคไทยรักไทย มีการกระจายปราศรัยในกลุ่มย่อยๆ และซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง อาศัยระบบอุปถัมภ์อันได้แก่ อาศัยหัวคะแนนกลุ่มเดิม และกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีอิทธิพลเหนี่ยวนำจิตใจ และเป็นที่น่าเคารพนับถือมาเป็นแรงเสริมในการหาเสียง โดยหวังว่าฐานเสียงและกระแสของรัฐบาลและคนเสื้อแดงจะส่งเสริมให้ได้รับชัยชนะ คะแนนอุปถัมภ์สายข้าราชการทหาร นักการเมืองท้องถิ่น ที่สำคัญจากนายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรีและบรรดา ส.ส.ในพื้นที่ ที่สามารถเรียกคะแนนเสียงหลักๆ โดยหวังว่าการเป็นตัวแทนจากพรรครัฐบาลจะได้คะแนนเสียงของฐานคะแนนคู่ต่อสู้ได้เป็นอย่างมาก
            การตลาดแบบดึงดูด (pull marketing) พบว่าพล.ท.มะ โพธิ์งาม ใช้การตลาดแบบดึงดูดหรือ  Air War  การวางแผนผลิตสื่อต่างๆ  ที่จะใช้ในการรณรงค์ผ่านสื่อมวลชนทุกชนิด ได้แก่ ป้ายรณรงค์ แผ่นพับใบปลิว  หนังสือพิมพ์  วิทยุและโทรทัศน์ ประจำท้องถิ่นท้องถิ่น  สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับต้องมีการรณรงค์ของตนลงทุกฉบับ การใช้สื่อทีวีเคเบิ้ล วิทยุ ซึ่งผู้วิจัยพบว่า เป็นการรณรงค์หาเสียงที่ต่อเนื่องมาก     การหยั่งเสียง (polling) เป็นการสำรวจความคิดเห็นเพื่อใช้ในการตัดสินใจปรับปรุงกลยุทธ์ โดยพล.ท.มะ โพธิ์งาม ก็ได้ดำเนินการร่วมกับทีมงาน สำรวจโดยการสอบถามความคิดเห็นและการสังเกตจากความสนใจของผู้เข้าร่วมในการฟังปราศรัย และจากบรรดาคะแนนที่คาดว่าจะได้จากกลุ่มหัวคะแนนหรือผู้อุปถัมภ์อื่นๆ โดยเฉพาะการลงมาช่วยของหัวหน้าพรรคและบรรดา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายๆ คน โดยการนำของ นายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  โดยมิได้เป็นการบังคับกะเกณฑ์แต่อย่างใดซึ่งสร้างความมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง จากนั้นก็ได้มีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินใน ศูนย์ปฏิบัติการ (war room) เพื่อประเมินคะแนนเสียงที่คาดว่าจะได้ทั้งจากพื้นที่และนอกพื้นที่ฐานคะแนนของตน ซึ่งก็มีผลออกมาโดยตลอดว่าตนเองมีคะแนนเสียงที่ใกล้เคียงกับคู่แข่งขัน ถึงแม้ในช่วงตอนต้น จะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นรองอยู่ก็ตาม

ข้อค้นพบจากการวิจัย

         
1.กระบวนการสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี  ได้แก่การใช้หลักส่วนผสมทางการตลาด 4P’s โดยใช้หลักของการสื่อสารทางการเมือง  แนวคิดการสื่อสารสองจังหวะ และแนวคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์เข้ามาเป็นตัวกำหนด รูปแบบ เนื้อหา และวิธีการ รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการตลาดทางการเมือง
            2.รูปแบบ เนื้อหา และวิธีการ ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ได้แก่ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยทางตรงและทางอ้อม  ทางตรงจากการสื่อสารโดยวิธีการลงพื้นที่ด้วยตนเอง  ทางอ้อม โดยใช้การรณรงค์ผ่านหัวคะแนน ผู้อุปถัมภ์ สื่อมวลชน และการสื่อสารทั้ง 2 ส่วน คือ  Air war อาทิเช่น แผ่นพับ ใบปลิว ป้าย สื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับต้องมีการรณรงค์ของตนลงทุกฉบับ การใช้สื่อทีวีเคเบิ้ล วิทยุ ซึ่งผู้วิจัยพบว่า เป็นการรณรงค์หาเสียงที่ต่อเนื่องมากและ ground war อาทิเช่น การเปิดปราศรัยเข้าไปในกลุ่มย่อยๆ และกลุ่มใหญ่สลับกันไป ได้แก่  ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น ภาพลักษณ์ (image) ความเป็นผู้มีประสบการณ์บริหารท้องถิ่น และผลงานที่ผ่านมากับนโยบายที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต
            3.ปัจจัยที่ทำให้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งมาจากการเลือกใช้ การสื่อสารสองจังหวะ(Two- step flow ) และระบบอุปถัมภ์ ที่ผ่านนายหน้าทางการเมืองนั้นคือ ระบบหัวคะแนน  เครือญาติ  กลุ่มแนวร่วมทางธุรกิจการงาน และผู้นำทางความคิดของชุมชน  ซึ่งผู้มีมากกว่าจะได้รับชัยชนะ และการรณรงค์ด้วยนโยบายที่ใช้ ส่วนผสมทางการตลาดการเมือง ที่สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรม  การชูนโยบายในเชิงบวกที่มุ่งเน้นผลงานที่ผ่านมาของตนเองเมื่อครั้งผ่านมา  มากกว่ามุ่งที่จะโจมตีคู่แข่งขันแต่เพียงอย่างเดียว อยากให้มีการสานต่องานที่ทำ ซึ่งงานท้องถิ่นควรต้องให้คนที่รู้ปัญหาเข้ามาแก้ไขและพัฒนาได้ดีต่อไป
            ผู้วิจัยพบว่า แนวความคิดการสื่อสารสองจังหวะ(Two- step flow  )และแนวคิดระบบอุปถัมภ์ (The patron-client system) ในสังคมไทย  เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการได้รับชัยชนะทางการเมืองและเป็นที่ยอมรับกัน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ตัดสินใจเลือกใครนั้น มีตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากนั้นได้แก่ การตัดสินใจภายใต้อิทธิพลแห่งการจูงใจซึ่งผู้วิจัยขอเรียกว่า  ผู้ทรงอิทธิพลทางจิตใจในท้องถิ่น ซึ่งผู้ทรงอิทธิพลทางจิตใจ ในท้องถิ่นในความหมายของผู้วิจัยแล้ว มิได้หมายถึงเพียงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อะไรต่างๆ เหล่านั้นแต่อย่างเดียว แต่หมายถึงผู้สื่อสาร นำเสนอ และจูงใจ ชักนำ ให้ตัดสินใจเลือก คนนั้นไม่เลือกคนนี้นั้นเอง ผู้วิจัยได้พบเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงได้ สนับสนุน ทฤษฎีการสื่อสารสองจังหวะ(Two-step flow  Theory) เป็นปัจจัยสู่ชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้  และ แนวคิดการตลาดทางการเมือง (Political  Marketing  ) ว่าด้วยหลักส่วนผสมทางการตลาด โดยใช้ 4P’s  เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ รูปแบบ เนื้อหาและวิธีการ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักการของแนวคิดนี้ก็คือ การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค นั้นก็คือผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงนั้นเอง

ข้อเสนอแนะ

            1.นักการเมืองท้องถิ่นพึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการหาเสียงที่ยึดติดแต่การพึ่งพาหัวคะแนน เพียงอย่างเดียวมิได้ แต่พึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในกระบวนการที่ได้มาซึ่ง รูปแบบ เนื้อหา และวิธีการที่เหมาะสมที่สุดมาใช้ในท้องถิ่นของตนเอง
            2.ควรศึกษาเรื่องของประสิทธิภาพของสื่อประเภทต่างๆ ที่ส่งผลในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ในด้าน  ลำดับความสำคัญ ความถี่การใช้ และช่วงเวลาที่เหมาะสม 


บรรณานุกรม
หนังสือและบทความในหนังสือ
จุมพล  หนิมพานิช.การวิจัยเชิงคุณภาพในทางรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่2.
                   กรุงเทพมหานคร
:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2551.น.53.

ณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ. (บรรณาธิการ). ก้าว(ไม่)พ้นประชานิยม กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร:
                   ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจการเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.น.103-104.
นันทนา นันทวโรภาส. ชนะการเลือกตั้งด้วยพลังตลาด. กรุงเทพมหานคร
: สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน, 2549.นิศา  ชูโต. การวิจัยเชิงคุณภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพมหานคร : บริษัท พรินต์โพร  จำกัด,2551.น.36.
ปาริชาติ  สถาปิตานนท์. ระเบียบวิธีวิจัยการสื่อสาร. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์
                 แห่งจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย,
2553.น.14-15.
ลิขิต  ธีรเวคิน. วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย
. พิมพ์ครั้งที่ 10 แก้ไขปรับปรุง. กรุงเทพมหานคร:
                    สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2554.น.301.
ศิริพร  จิรวัฒน์กุล. การวิจัยเชิงคุณภาพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ. กรุงเทพมหานคร:บริษัทวิทยาพัฒน์
                  จำกัด,
2552. น. 141-142.
สุรพงษ์  โสธนะเสถียร. การสื่อสารการเมือง .พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพมหานคร : ประสิทธิ์ภัณฑ์ 
                   แอนด์ พริ้น ติ้ง.2537
เสถียร  เชยประดับ. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการสื่อสารทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา. กรุงเทพมหานคร
:
                  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,
2540. น.1.
อมรา  พงศาพิชญ์ และ ปรีชา คุวินทร์พันธุ์. ระบบอุปถัมภ์. พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
                  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539
บทความในวารสาร นิตยาสาร และหนังสือพิมพ์

ณรงค์  บุญสวยขวัญ. “พัฒนาการเมืองภาคประชาชน”. วารสารสถาบันพระปกเกล้า.
                   (
6,2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2551):28-53.
รัฐสภาสาร. ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 เดือน มีนาคม พ.ศ.2555

ลิขิต ธีรเวคิน . ระบบอุปถัมภ์กับการเมืองการบริหารในสังคมไทย.” บทความ (14 พฤศจิกายน 2550)
วิษณุ บุญมารัตน์ .
การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองโดยใช้กลยุทธ์การสื่อสาร
                   การตลาด”. บทความ ( 12 มกราคม 2548)
อภิวัตน์  พลสยม.
การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา :
                  ศึกษากรณีการเลือกตั้งเมื่อวันนี่ 10 กุมภาพันธ์ 2551.
” รวมบทความวิชาการฉบับพิเศษ 5 ปี.
                  วิทยาลัย
สื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก, 2554.
เอกสารอื่นๆ
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ,
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                  กาญจนบุรี, 18 มีนาคม 2555
.
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ,
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด
                  กาญจนบุรี, 20 เมษายน 2551.

ฉกาจ  พรหมดีสาร.
ปัจจัยความสำเร็จในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด  
                   นครราชสีมา ของนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551
                   วิทยานิพนธ์
หลักสูตรปริญญารัฐศาสตร์มหาบัณฑิต แขนงวิชาการเมืองการปกครอง
                   สาขาวิชารัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,
2553
นันทนา  นันทวโรภาส. “การสื่อสารทางการเมือง : ศึกษาการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั่วไปของ
      พรรคไทยรักไทย. “วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาการสื่อสารมวลชน
                   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2548
.
สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี , ผลการดำเนินงาน จังหวัดกาญจนบุรี, 2554.
อรอนงค์  สวัสดิ์บุรี. “โครงการ รูปแบบการสื่อสารของนักการเมืองท้องถิ่น”, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ 
                  สำนักสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , 2549
Books
Berlo, David K. The Process of Communication. New York: Holt, Rinchart and Winston Inc.,
                  1960, p. 7-12.
Foster,G.M. “Tha Dyadic Contract ; a Model for the social Structure of a Mexican peasant
                   Village” , American  Anthropologist, LXlll, 1173-92. 1961.
Hall, A . Social and  Economic  Obstacles  to  Agrarian Reform  in  Northeast Brazil, M. Phill
                   thesis,  mimeo., Glasgow University. 1970.
Hutchinson, H. Village and  Plantation life in Northeast  Brazil, Washington : University of
                   Washington Press. 1957.
Lazarsfeld, P., Berelson, B.  and  Gauded, H.  The People’s Choice.  New York : Columbia
                  University Press, 1944.
Lees-Marshment, Jennifer. The Maraiage of Politicals and Marketing. In Political Studies.
                  Vol. 49, 2001, p. 692.
McNair, Brain.  An Introduction to Political communication. Second  Edition. London : Routledge,
                  1999.
Mair, L. “Clientahip  in  East  Africa.”  Cahiers  deludes  Africans.ll : 6, 315-25 .1961.
Newman,  Bruce I.  The Marketing of the President:Political Marketing as Campaign Strategy.
                   London:SAGE Publication.,1994.


วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เปรียบเทียบการเมืองการปกครองประเทศเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส โดย.รหัส แสงผ่อง



เปรียบเทียบการเมืองการปกครองประเทศเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส โดย.รหัส  แสงผ่อง
บทนำ
                                ประเทศที่ใช้รูปแบบรัฐเดี่ยว (Unitary state) ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้  มีการปกครองในระบอบประชาธิไตย รูปแบบการเมืองการปกครองในการบริหารจัดการแตกต่างกัน(พฤฒิสาน  ชุมพล,2554:46)  และรัฐรวม รัฐประเภทนี้ได้แก่ การที่รัฐอย่างน้อย 2 รัฐมารวมกันเป็นรัฐเดียว โดยแบ่งการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็นสัดส่วน มีรัฐบาล 2 ระดับ ได้แก่ รัฐบาลกลาง กับรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลทั้ง 2 ระดับ ต่างมีอำนาจหน้าที่ของตนโดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยทั่วๆ ไป รัฐบาลกลางของรัฐรวมจะใช้อำนาจอธิปไตยในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐ ทั้งหมด หรือผลประโยชน์อันเป็นส่วนรวมของรัฐ เช่น การติดต่อกับต่างประเทศ การรักษาความมั่นคงของชาติ การเงินและการคลัง เป็นต้น
                                ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการอันเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นโดย เฉพาะ เช่น การจัดการศึกษา การรักษาความสงบภายใน การรักษาสุขภาพของประชาชนเป็นต้น รัฐรวมประกอบด้วยหลาย ๆ รัฐเข้ามารวมกันเป็นรัฐประชาชาติใหญ่ เรียกว่า สหพันธรัฐ เช่น สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยมลรัฐต่าง ๆ ถึง
50 มลรัฐ สาธารณรัฐเยอรมนี มีรัฐต่าง ๆ รวมกันถึง 16 รัฐ เป็นต้น รัฐธรรมนูญของรัฐรวมหรือสหพันธรัฐแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้อง ถิ่นออกจากกันอย่างเด่นชัดว่า รัฐบาลใดมีขอบเขตของอำนาจหน้าที่อย่างไร ทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งอันอาจจะเกิดขึ้นได้ ปกติรัฐที่มีการปกครองแบบรัฐรวม มักจะเป็นรัฐหรือประเทศใหญ่ มีอาณาเขตกว้างขวาง มีภูมิประเทศและสภาพท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เช่น สหพันธรัฐรัสเซีย ออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย เป็นต้น(http://writer.dek-d.com/freya1412/story/viewlongc.php?id=733167&chapter=1)                                  เพื่อประโยชน์ของการเรียนวิชาการเมืองและระบบการสื่อสารทางการเมืองเปรียบเทียบ  เพื่อให้มองเห็นมากขึ้น กว้างขึ้น รู้มากขึ้น รู้มากย่อมดีกว่ารู้น้อย รู้น้อยย่อมดีกว่าไม่รู้เลย การได้รู้มากขึ้นนั้นย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองโดยตรงทั้งสิ้นไม่ว่าจะนำ ความรู้นั้นไปใช้อย่างไรหรือไม่ก็ตาม การได้รู้จักคนอื่น ประเทศอื่น และการปกครองของประเทศอื่นนั้นทำให้เราได้ประโยชน์ การรู้จักการเมืองการปกครองในประเทศอื่นมากขึ้น ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจ   นำไปสู่การศึกษาอย่างมีเหตุผลเป็นระบบ และนำไปใช้วิเคราะห์อธิบายได้ถูกต้องมากขึ้น
                              สามารนำไปตอบคำถามในทางการเมืองการปกครองได้อย่างมีเหตุผลในเชิงวิชาการ การศึกษาเปรียบเทียบทำให้เรารู้จักการใช้เหตุผลในการเปรียบเทียบ มีแนววิเคราะห์ที่ชัดเจนขึ้น
  การประมวลเหตุผล หาข้อสรุป และใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการคาดเดาเหตุการณ์ หรือการทำนายแนวโน้มหรือการคาดการณ์ในอนาคต หาประเด็นที่เหมือนกันมาศึกษาเพื่อคาดการณ์ถึงผลที่ควรจะเกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียไม่ควรเกิดขึ้นได้ หรือเพื่อให้ได้รับผลดีตามต้องการได้มากขึ้นได้  เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเหตุผลของความแตกต่าง การศึกษาเปรียบเทียบการปกครองในประเทศต่าง ๆ และจัดกลุ่มเพื่อแบ่งแยกความแตกต่างของแต่ละกลุ่มการศึกษาความทำให้เกิดความ เข้าใจชัดเจนขึ้นในเหตุผลของความแตกต่าง(ไพโรจน์  ชัยนาม,2524:39
                               ในประวัติศาสตร์การเมืองของมนุษย์มีความหลากหลาย ทั้งในส่วนของระบอบการปกครอง ระบบการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมือง ความเป็น-ไม่เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ดังนั้น ในการศึกษาการเมืองโดยการใช้ตัวอย่างเพียงแค่ตัวอย่างรูปแบบเดียว จะไม่สามารถทำเข้าใจได้เพราะเริ่มต้นจากการมองการเมืองแบบแคบ   การศึกษาการเมืองในเชิงเปรียบเทียบ คือ การเริ่มต้นจากการมองเห็นความหลากหลายของความเป็นการเมืองในหลาย ๆ ส่วนข้างต้น  และพยายามหาข้อเหมือน-แตกต่างของประเด็นทางการเมืองที่สนใจศึกษา  และเชื่อมโยงหาคำตอบหรือข้อสรุปจากการศึกษา โดยหลัก ๆ จะพิจารณาว่า สภาพที่เหมือนกันนั้น เหมือนกันตรงไหน เพราะอะไร และส่งผลอย่างไรในทางการเมือง หากมีความแตกต่างกัน แตกต่างกันอย่างไร เหตุใดจึงแตกต่างกัน และส่งผลอย่างไรในทางการเมือง  ซึ่งการศึกษาโดยใช้วิธีการเปรียบเทียบมาใช้จะได้คำตอบในลักษณะดังกล่าวได้ง่ายและดีกว่าวิธีการอื่น  โดยคำตอบหรือผลจากการศึกษาเหล่านี้สามารถจะไปเสริมองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิมทางรัฐศาสตร์ (จรูญ   สุภาพ,2534:26)
                               การเมืองการปกครองประเทศเกาหลีใต้หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่2 ในปีพ.ศ. 2491 คาบสมุทรเกาหลี ถูกแบ่งเป็นสองส่วนโดยเส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือ (มักเรียกว่าเส้นขนาน 38) โดยสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือมีการปกครองระบอบสังคมนิยม ส่วนสหรัฐอเมริกาดูแลเกาหลีใต้มีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และศาลทำหน้าที่ทางตุลาการ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 6 เขตการปกครอง (โซล ปูซาน อินชอน แตกู กวางจู แตชอน) 
                               เกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ แรกเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดี ชุน ดู ฮวาน ต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง                                รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา(National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน โดยสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือก ตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547) สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ   
                                ประธานาธิบดี
เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง โดยมีวาระ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายอำนาจ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการจำเป็นในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา  คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านบริหารประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีจำนวน 20 คน
                                นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังประกอบด้วย สภาที่ปรึกษาอวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษารวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ
คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณคณะกรรมการเกี่ยวสิทธิสตรี สภาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกิจขนาดเล็ก คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆของรัฐบาลและสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ โดยประธานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ทั้งนี้ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐบาลด้วย(http://th.wikipedia.org/wiki/ )   
                                เกาหลีใต้ (South Korea) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี พรมแดนทางเหนือติดกับประเทศเกาหลีเหนือ มีประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้โดยมีทะเลญี่ปุ่นและช่องแคบ เกาหลีกั้นไว้  ประวัติศาสตร์  ในประวัติศาสตร์เกาหลี แบ่งเป็นราชอาณาจักรทั้งสาม คือราชอาณาจักรโคกูเรียว อาณาจักรแพ็คเจ และอาณาจักรซิลลา ซึ่งปกครองคาบสมุทรเกาหลีและบางส่วนของจีน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์กาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ในช่วงหนึ่งศตวรรษก่อนคริสตศักราช คาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด และดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศจีนอยู่ภายใต้การปกครองของสามอาณาจักร  
                                   ราชวงศ์ลี เป็นราชวงศ์สุดท้ายของเกาหลี หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของพระเจ้าซุนจง เกาหลีก็ได้ถูกปกครองโดยญี่ปุ่นในปี พ.ศ.
2453  หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเกาหลีต้องแยกเป็นสองประเทศตามข้อตกลงพอตสดัม (Potsdam) ในปี พ.ศ. 2488 โดยใช้เส้นขนาน 38 และเกาหลีใต้ อยู่ในการดูแลโดยสหรัฐอเมริกา ต่อมาจะต้องผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจหลังจากอยู่ภายใต้การดูแลของกองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ โดยเน้นในเศรษฐกิจเป็นสากลยิ่งขึ้น ยุติการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลในธุรกิจเอกชน และให้ความยุติธรรมต่อภาคเอกชนทุกแห่ง และเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ให้อยู่ร่วมอย่างสันติ( http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/ )
                                การเมืองการปกครองเกาหลีใต้
  สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยประมุขของประเทศคือประธานาธิบดี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนให้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยมีนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐสภาเป็นองค์กรนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ทางศาล ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีการแบ่งเขตการปกครองเป็น 9 จังหวัด และ 6 เขตการ ปกครอง (โซล ปูซาน อินชอน แตกู กวางจู แตชอน)  รัฐธรรมนูญ  เกาหลีใต้ประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ แรกเมื่อ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอดอีก 9 ครั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ต้องประสบกับภาวะกดดันทางการเมืองจากพรรคการเมืองต่าง ๆ
                               ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยตรง และในที่สุด ประธานาธิบดีชุน ดู ฮวาน ก็ยินยอมให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง โดยอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (
5 ปี) และให้มีการจัดระบบการปกครองท้องถิ่นอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญที่ได้รับการแก้ไข ยังได้ยกเลิกอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี และให้รัฐสภามีอำนาจหน้าที่ดูแลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งระบุว่ากองทัพต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง  ฝ่ายนิติบัญญัติ  รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐสภา (National Assembly) เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาของเกาหลีใต้เป็นรูปแบบสภาเดียวประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน โดยสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ที่เหลือมาจากการแต่งตั้งโดยจัดสรรตามสัดส่วนของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือก ตั้ง สมาชิกรัฐสภาแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ล่าสุดเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2547) สภาจะเลือกประธาน (Speaker) และรองประธาน (Vice-Speaker) จำนวน 2 คน  อำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า สามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีได้ หากสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 เสนอขอและสมาชิกสภาข้างมากเห็นชอบตามเสนอ ซึ่งในกรณีการถอดถอนประธานาธิบดีนั้น ต้องเสนอโดยเสียงข้างมากและสมาชิกสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากผู้มีสิทธิออกเสียง โดยมีวาระ 5 ปี และไม่สามารถลงสมัครแข่งขันเป็นครั้งที่ 2 ได้ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายอำนาจ ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย รวมทั้งเป็นผู้มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการจำเป็นในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ประธานาธิบดีสามารถเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาได้ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
                               นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในด้านบริหารประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และการเข้าร่วมประชุมรัฐสภา คณะรัฐมนตรีมีจำนวน
20 คน นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารยังประกอบด้วย สภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาการรวมประเทศ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ คณะกรรมการเกี่ยวกับสิทธิสตรี สภาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกิจขนาดกลางและเล็ก คณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ โดยประธานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ทั้งนี้ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำต่อคณะรัฐบาลด้วย  ฝ่ายตุลาการ ประกอบ ด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
                               การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือเป็นเรื่องที่จะสร้างปัญหาในด้านความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของ ประชาชนหรือเป็นภัยต่อขวัญของประชาชน คำพิพากษาจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ นอกจากนี้ ยังมีศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และมีอำนาจในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นโมฆะ
(โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากศาลรัฐธรรมนูญได้รับการร้องขอจากศาลชั้น ต้นหรือจากกลุ่มบุคคลที่ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาจากศาลชั้นต้น ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าว) อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องทางกฎหมาย ของกระบวนการถอดถอนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ ได้แก่ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร หากพบว่าพรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
(http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=207af861ccaa86d4)
                                แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้เป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกับไทยเรา แต่เกาหลีใต้มีการแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็นเพียงสองระดับ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง และการบริหารราชการส่วนท้องท้องถิ่นเท่านั้น โดย ไม่มีการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ดังเช่นของไทยเราแต่อย่างใด แต่ประเทศเกาหลีได้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ทั้งที่อาจกล่าวได้ว่าการปกครองท้องถิ่นในเกาหลีใต้เพิ่งจะมีการปฏิรูปกัน อย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยรัฐธรรมนูญของเกาหลีใต้มีบทบัญญัติรองรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ เกาหลีใต้แปรเปลี่ยนตามสถานการณ์ทางการเมืองในระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามเกาหลีที่ทำให้การปกครองท้องถิ่นของเกาหลีใต้ต้อง หยุดชะงักลง หรือจะเป็นการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลเผด็จการของปัก จูง ฮี หรือ ชุน ดู วาน ที่ยังอยู่ในคุก เพราะส่งทหารไปปราบประชาชนที่กวางจูจนผู้คนล้มตายนับพันคน  เกาหลีใต้มีกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่น ฉบับแรกตั้งแต่ปี 2492 (Local Autonomy Act in 1949) และได้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ใน ปัจจุบันมีการแก้ไขปรับปรุงเมื่อปี 2538 โดยมีเนื้อหาสาระเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด กล่าวคือ ให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับมาจาก การเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง(ชำนาญ  จันทร์เรือง,2555)
                                สรุปการเมืองการปกครอง สาธารณรัฐ เกาหลี (เกาหลีใต้) ปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนให้เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และประธานาธิบดี จะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี โดยผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา (
http://www.2by4travel.com/home/Data-travel/korea/khxmul-prathes-keahliti)

การปกครองประเทศสหรัฐอเมริกา : ระบบประธานาธิบดี 
                                 รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่เก่าแก่ที่ สุดในโลกปัจจุบัน โดยเริ่มต้นจากการที่ผู้แทนของรัฐต่างๆ 12 รัฐที่มาประชุมกันที่เมืองฟิลาเดลเฟีย ปี ค.ศ.1787 นั้นโดยเจตนาจะมาเพื่อแก้ไขมาตราของรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐเดิม แต่เมื่อมาถึงแล้วกลับกลายมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยทั้ง 55 คนที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ส่วนมากมีพื้นเพจากชนชั้นที่มีทรัพย์ ส่วนมากจะเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม มีความเกรงกลัวเรื่องผลของความรุนแรงจากพลังประชาธิปไตย อันที่จริงเขาเหล่านี้พื้นเพเดิม คือ มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากอังกฤษ จึงได้รับการศึกษาแบบอังกฤษ ความคิดทางการเมืองของนักปรัชญา เช่น จอห์น ล็อก และมองเตสกิเออร์ มีอิทธิพลต่อกลุ่มผู้นำเหล่านี้มาก นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำเหล่านี้ยังได้ผ่านสงครามกู้อิสรภาพปลดแอกจากอังกฤษ ฉะนั้น จึงรู้คุณค่าของอิสรภาพเป็นอย่างดี และซาบซึ้งว่าการปกครองมิใช่เรื่องการให้เสรีภาพแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อจะบริหารประเทศได้ รูปแบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐขณะนั้น ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลกลางเลยมีแต่สภาคองเกรส ซึ่งสภาคองเกรสจะผ่านพระราชบัญญัติใดๆ ได้ ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงสนับสนุน 9 จาก 13 เสียง และถ้าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จาก ทุกรัฐ  ในเมื่อระดับประเทศไม่มีรัฐบาลกลางที่จะมาจัดเก็บภาษี และไม่มีกองทัพของชาติที่จะปกป้องประเทศ สหรัฐจึงประสบปัญหาในการบริหารมากมาย เช่น ปัญหาของการใช้หนี้สงครามที่ผ่านไป ปัญหาต่างประเทศ ปัญหาการป้องกันประเทศ ปัญหาภัยจากเผ่าอินเดียนแดง ปัญหาของการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เป็นต้น
                                ฉะนั้น กลุ่มผู้นำจาก 12 รัฐ ที่มาประชุม (ขาดผู้แทนรัฐโรด ไอซ์แลนด์ 1 รัฐ) จึงเป็นผู้มีอุดมคติและมีประสบการณ์ที่ค่อนข้างลบจากรูปแบบการปกครอง สมาพันธรัฐ เขาเหล่านั้นจึงเปลี่ยนใจจากเดิมที่มีเจตนามณ์จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิม ก็กลายเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในบรรดาผู้นำ 55 คนนี้ มีนักคิด นักปรัชญาและรัฐบุรุษในอดีตและอนาคตหลายท่านเช่น ยอร์จ วอชิงตัน เบนจามิน แฟรงคลิและเจมส์ เมดิสัน เมดิสันนั้นถือกันว่าเป็นผู้สะท้อนความคิดของคนสมัยนั้นมากที่สุดจากการที่เขามี แนวความคิดก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่หลงใหลหรือหลงละเมอกับคำว่าเสียงของประชาชนเสมอไป เขาคิดว่า มนุษย์เรามักเข้าข้างตนเอง สามารถทำความชั่วได้เสมอ ฉะนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการที่จะเป็นสองอย่างควบคู่กันไปคือประการแรก จะต้องหาวิธีการสร้างรัฐบาลกลางให้เข็มแข็งพอที่จะปกครองคนได้ และประการที่สอง จะต้องหาวิธีการที่จะสร้างกลไกเพื่อให้รัฐบาลควบคุมตนเอง ในการสร้างรัฐบาลเพื่อให้มนุษย์ปกครองมนุษย์กันเอง ความยากลำบากจึงอยู่ที่ว่าประการแร จะต้องให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางเพื่อที่จะสามารถควบคุมผู้อยู่ใต้ปกครองได้ กำหนดให้รัฐบาลสามารถควบคุมตนเองได้และจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นไว้เพื่อป้องกันผลเสียหาย เสรีภาพและเสถียรภาพมั่นคงระหว่างการสร้างรัฐบาลชาติให้มีอำนาจปกครองประเทศได้ขณะเดียวกันธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพของมลรัฐที่จะปกครองตนเองในระดับหนึ่ง
หลักการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา 
                                1.รัฐธรรมนูญสร้างระบบการปกครองแบบสมาพันธรัฐ (Federation) เป็นรูปแบบที่มีทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของมลรัฐต่างๆ ประเด็นคือ จะแบบอำนาจกันอย่างไรระหว่างสองระดับนี้
                                มาตรา 1 ส่วนที่ 8 ได้กำหนดอำนาจของสภาคองเกรสไว้อย่างชัดเจน เช่น อำนาจที่จะจัดเก็บภาษีอากร ใช้หนี้รัฐบาล จัดการป้องกันประเทศ การกู้ยืมหนี้สิน การออกระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้ากับต่างประเทศและระหว่างมลรัฐต่างๆ อำนาจที่จะผลิตเงินตราและกำหนดค่าของเงินตรา จัดตั้งกองทัพ ประกาศสงคราม และออกพระราชบัญญัติ ที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อดำเนินการตามนโยบายและอำนาจหน้าที่ดังกล่าว    ในขณะเดียวกันใน มาตรา 1 ส่วนที่ 10 ก็ได้จำกัดอำนาจของมลรัฐในหลายๆ เรื่อง เช่น ห้ามมิให้มลรัฐทำสัญญากับต่างประเทศ ห้ามผลิตเงินตรา เป็นต้น  ต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 10 กำหนดว่า อำนาจที่มิได้กำหนดให้เป็นของสหรัฐ และยังมิได้เป็นข้อห้ามสำหรับมลรัฐให้เป็นอำนาจของมลรัฐ นี่คือหลักที่เรียกกันว่า อำนาจที่ยังคงเหลือของรัฐ (Residual Power ขณะเดียวกันในมาตรา 6 ส่วนที่ 2 ของรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้อีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้และกฎหมายของรัฐที่จะออกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะมีความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผู้พิพากษาในทุกๆ มลรัฐจะต้องยึดถือกฎหมายเหล่านี้เป็นแนวปฏิบัติ เรียกกันว่า หลักของกฎหมายสูงสุด (Supremacy Clause)
                                นอกจากนั้น ยังมีการประนีประนอมที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งระหว่างมลรัฐด้วยกันอง โดยกำหนดให้สภาคองเกรสประกอบด้วย 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา สำหรับสภาผู้แทนราษฎรจะใช้หลักการเลือกตั้งโดยตรง บนพื้นฐานของจำนวนประชากรผู้มีสิทธิ ส่วนวุฒิสภากำหนดให้แต่ละรัฐส่งสมาชิกให้รัฐละ 2 คน
                                 2.รัฐธรรมนูญสร้างระบบการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่พอใจเพียงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมล รัฐเท่านั้น ยังต้องแยกอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยกำหนดให้สภาคองเกรสมีอำนาจนิติบัญญัติ ประธานาธิบดีอำนาจบริหาร และศาลมีอำนาจตุลาการ   ตามหลักของมองเตสกิเออร์ ในการแบ่งแยกอำนาจนี้ยังได้แยกสถาบันฝ่ายบริหารออกจากสภานิติบัญญัติค่อน ข้างจะเด็ดขาด กล่าวคือ ทั้งสองสถาบันมีฐานอำนาจ แยกกัน ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน มีวาระสมัย 4 ปี แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีของท่านเอง สภาคองเกรสไม่มีอำนาจจะล้มรัฐบาล ส่วนสภาคองเกรส  ก็เช่นกัน ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีวาระสมัย 2 ปี และ สำหรับวุฒิสภามีวาระสมัย 6 ปี ประธานาธิบดีไม่สามารถยุบสภา คองเกรสได้  
                                3.รัฐธรรมนูญสร้างระบบตรวจสอบและคานอำนาจ (Checks and Balance) นอกจากจะแบ่งแยกอำนาจแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีการตรวจสอบหรือคน อำนาจซึ่งกันและกันได้ เช่น สภาคองเกรสมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีมีสิทธิที่จะยับยั้งได้ (Veto)  อย่างไรก็ตาม   เมื่อประธานาธิบดีได้ใช้สิทธิยับยั้งแล้ว   หากร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ผ่านการพิจารณาของสภาคองเกรสเป็นครั้งที่สอง โดยได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 ก็จะออกเป็นกฎหมายได้ในทางกลับกันประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจ แต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดและรัฐมนตรี แต่การเสนอเพื่อแต่งตั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน ผู้พิพากษานั้นเมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว แต่สภาคองเกรสก็สามารถที่จะกล่าวโทษผู้พิพากษาได้เมื่อมีเหตุหรือมลทินมัว หมอง ในทำนองเดียวกันว่าศาลสูงสุดมีอำนาจที่จะประกาศว่ากฎหมายใดขัดกับรัฐธรรมนูญ
                                4.รัฐธรรมนูญยึดหลักของการจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน หลักการที่เป็นแม่บทการปกครองของรัฐธรรมนูญสหรัฐ คือ หลักของการปกครองโดยความยินยอมเห็นชอบของประชาชน หลักการนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ต่อเมื่อจัดให้มีระบบการเลือกตั้งในทุกตำแหน่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง
                               ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชนให้มาเลือกประธานาธิบดี ส่วนผู้แทนราษฎรในสภาล่างและวุฒิสมาชิกได้รับการเลือกตั้งเช่นกัน ผู้พิพากษาอาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา
                                ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีศรัทธาต่อระบบการเลือกตั้งมาก และเชื่อมั่นว่า รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนนี้จะเป็นรัฐบาลที่เลวน้อยที่สุด เพราะทุกคนที่ได้รับการเลือกตั้งย่อมต้องมารับผิดชอบต่อผู้เลือกตนในสมัยการ เลือกตั้งครั้งต่อไป      
                                5.หลักของสิทธิเสรีภาพของมนุษยชน หลักของสิทธิเสรีภาพเป็นหลักขั้นมูลฐานที่จะอำนวยให้ระบบการปกครองแบบเลือก ตั้งได้เป็นประชาธิปไตยได้สมบูรณ์แบบ
                                 โดยสรุป รูปแบบการปกครองของสหรัฐ อาจจะเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยพหุนิยม (Pluralist Democracy) คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายอยู่หลายขั้วหลายศูนย์ นอกจากนั้นยังมีรูปแบบของระบบประธานาธิบดีซึ่งรวมบทบาทของประมุขและของนายก รัฐมนตรีไว้ในคนๆ เดียวกัน จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณสมบัติตรงที่มีความเรียบง่าย (Simplicity) ไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย แต่เปิดทางกว้างๆ ไว้เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต
(http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=208.0)   
                                ระบบการเมืองการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสหรัฐอเมริกาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี  คือ  ประธานาธิบดีเป็นผู้นำฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศ  โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติ  คือ  สภาครองเกรส  ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  ซึ่งมาจากผู้แทนมลรัฐ  และมีศาลสูงทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการ(ชาญชัย  แสวงศักดิ์,
2540:37)  พัฒนาการของระบบการเมืองการปกครองและสถาบันทางการเมืองการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา  การประกาศอิสรภาพจากอังกฤษของอาณานิคม  13  แห่งในดินแดนอเมริกา  เมื่อวันที่  4  กรกฎาคม  1776  ทำให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นในรูปแบบสมาพันธรัฐ  ชื่อว่า สมาพันธรัฐอเมริกา(ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2552:64)
                               
รัฐใหม่นี้จำเป็นจะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์แบบแผนในการจัดการปกครอง  และในขณะเดียวกันก็ยืนยันถึงเอกราชและอธิปไตยของชาติ  จึงได้จัดทำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งสมาพันธรัฐ  (Articles  of  Confederation)  แต่ก็ต้องประสบปัญหาในการบริหารประเทศมากมาย  เพราะการที่สมาพันธรัฐอเมริกาไม่มีรัฐบาลกลางที่จะทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ  จัดเก็บภาษี  ไม่มีกองทัพของชาติ  ทำให้เกิดปัญหาในการใช้หนี้สงคราม  ปัญหาการต่างประเทศ  ปัญหาการป้องกันประเทศจากพวกอินเดียนแดง  รวมทั้งปัญหาการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจากปัญหาทางการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสมาพันธรัฐดังกล่าว  ทำให้บรรดาผู้นำของรัฐต่าง ๆ  มาประชุมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว  จนในที่สุดกลายเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น  และใช้มาจนถึงปัจจุบันในรูปแบบของสหพันธรัฐ (สมบัติ  ธำรงธัญวงศ์,2548:87-93)  หลักสหพันธรัฐ  (Fedaralism)  เป็นหลักการหรือทฤษฎีที่ว่าด้วยการแบ่งแยกอำนาจอย่างเด็ดขาดระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของมลรัฐ  และเพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปได้ด้วยดี  และสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นจะต้องให้อำนาจรัฐบาลกลางสามารถมีอำนาจเหนือมลรัฐทั้ง  13  แห่ง  และสามารถลงโทษผู้ที่ต่อต้านขัดขืนต่อกฎหมายที่รัฐบาลกลางวางไว้ได้  เพื่อให้เกิดความยุติธรรมจึงได้จัดแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐออกเป็น  3  ประเภท คือ
                                1.Delegated  Power  เป็นอำนาจของรัฐบาลกลางโดยตรง  ซึ่งรัฐบาลแห่งมลรัฐมอบให้รัฐบาลกลางมีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน  จัดระเบียบการค้าพาณิชย์ระหว่างมลรัฐ  และระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับต่างประเทศ  กำหนดระบบเงินตราและการดำเนินการกู้ยืมเงินทั้งในและนอกประเทศ  การเรียกเก็บภาษี  รวมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และการจัดการกองทัพ  การประกาศสงคราม  และการทำสนธิสัญญาสันติภาพ
                                2.Reserved  Power  เป็นอำนาจที่รัฐบาลแห่งมลรัฐยังคงรักษาไว้  และมีอำนาจบางอย่างเต็มที่ในการดำเนินกิจการภายในของรัฐ  โดยรัฐบาลกลางจะเข้ามาก้าวล่วงไม่ได้  ได้แก่  อำนาจในการจัดการศึกษา  การจัดการจราจร  การกำหนดพิกัดอัตราภาษีภายในมลรัฐ  การตรากฎหมายว่าด้วยการสมรส  และการหย่าร้าง  เป็นต้น
                                3.Concurrent  Power  เป็นอำนาจที่ใช้ร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของมลรัฐ  เช่น  การเก็บภาษี  ซึ่งในกรณีนี้ทำให้ชาวอเมริกันต้องเสียภาษีหลายครั้ง (อภิญญา  แก้วกำเนิด,2544:62)
                                ระบบการเมืองการปกครองและสถาบันทางการเมืองการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกา
  ประเทศสหรัฐอเมริกาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี โดยมีสาระสำคัญคือ ระบบประธานาธิบดี  (President  System)  เป็นการปกครองที่มีการแบ่งแยกอำนาจเด็ดขาด  โดยอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ  ของรัฐถูกมอบหมายให้แต่ละองค์กร  คือ  ฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติ  และฝ่ายตุลาการ  นำไปปฏิบัติโดยเป็นอิสระ  ซึ่งแต่ละองค์กรจะทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายโดยไม่ก้าวก่ายตรวจสอบหรือควบคุมซึ่งกันและกัน (ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2552:35)  เช่น  ฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจในการยุบสภา  ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  และแต่ละฝ่ายก็จะมีที่มาเป็นอิสระต่อกัน  ซึ่งลักษณะสำคัญของการปกครองระบบดังกล่าว  ได้แก่  การที่ประมุขของรัฐและประมุขฝ่ายบริหารเป็นบุคคลคนเดียวกันซึ่งก็คือประธานาธิบดี  และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  โดยมีอำนาจในการตั้งรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร  แต่ไม่มีอำนาจริเริ่มเสนอกฎหมาย  ไม่มีอำนาจยุบสภา  ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหาร  ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐมีการแยกอำนาจของฝ่ายต่างๆดังนี้ (อภิญญา  แก้วกำเนิด,2544:102)
                                1.สถาบันนิติบัญญัติ  สภาครองเกรส  (Congress)  ประกอบด้วย  สภาผู้แทนราษฎร  หรือ  สภาล่าง  (House  of  Representatives)  มาจากการเลือกตั้งแบ่งตามเขตเลือกตั้งต่าง ๆ  ทั่วประเทศ  และวุฒิสภา  หรือ  สภาสูง  (Senate)  มาจากผู้แทนมลรัฐ  รัฐละ  2  คน  โดยสภาครองเกรสมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ (ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2540:61) ได้แก่การออกกฎหมายและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร  นอกจากนี้  สภาสูงยังมีอำนาจหน้าที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญา  และการรับรองแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงและรัฐมนตรี  ส่วนสภาล่างก็มีอำนาจในการกล่าวโทษ  (Impeachment)  ข้าราชการฝ่ายพลเรือนหรือตุลาการให้พ้นจากตำแหน่ง  โดยต้องใช้คะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการกล่าวโทษประธานาธิบดี  และวุฒิสภาจะเป็นผู้สืบสวนข้อเท็จจริงหรือเป็นลูกขุนในการพิจารณาคดี  การปลดต้องใช้คะแนนเสียงสองในสามของสมาชิกวุฒิสภา  สำหรับในกรณีของประธานาธิบดีจะต้องให้ประธานศาลสูงเป็นประธานของคณะลูกขุนในการพิจารณา
                                2.สถาบันฝ่ายบริหาร  ประธานาธิบดีเป็นผู้นำฝ่ายบริหารและประมุขของประเทศ  ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง  อยู่ในตำแหน่งคราวละ  4  ปี  และอยู่ได้ไม่เกิน  2  วาระ  โดยมีรองประธานาธิบดีอีกหนึ่งคนซึ่งมาจากระบบของการเลือกตั้งโดยอ้อมผ่านทางคณะผู้เลือกตั้งตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมาย  ซึ่งประธานาธิบดีจะเป็นผู้เลือกคณะบริหารหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของประธานาธิบดี  (ภูริชญา  วัฒนรุ่ง,2550:48)โดยประธานาธิบดีมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ  ได้แก่  การควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย  การแต่งตั้ง  โยกย้าย  ถอดถอนข้าราชการ  ฝ่ายบริหารทั่วไป  เว้นแต่บางตำแหน่งที่มีความสำคัญระดับนโยบาย  เช่น  รัฐมนตรี  และเอกอัครราชทูตต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภานอกจากนี้ยังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบหรือยับยั้งกฎหมาย  (Veto)  แต่หากรัฐสภาลงมติด้วยคะแนนเสียงสองในสาม  อำนาจยับยั้งนั้นตกไป  ซึ่งประธานาธิบดีจะต้องลงนามเพื่อประกาศใช้กฎหมาย  อำนาจในการลดโทษ  อภัยโทษ  หรือนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ต้องโทษในคดีต่าง ๆ  ตามข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ  อำนาจในการทำสนธิสัญญาที่จะต้องผ่านการให้สัตยาบันจากวุฒิสภา  และอำนาจสูงสุดในการบังคับบัญชากองทัพทั้งหมดของประเทศ  ทั้งนี้  แม้สภาจะไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้  แต่ประธานาธิบดีก็ไม่สามารถยุบสภาได้เช่นกัน
                                3.สถาบันตุลาการ  ระบบศาลของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระบบศาลเดี่ยว  คือ  มีศาลสูง  (Supreme  Court)  เป็นศาลที่มีอำนาจสูงสุดเพียงศาลเดียว  โดยการวินิจฉัยคดีของศาลสูงถือว่าเป็นที่สุด  ไม่สามารถจะอุทธรณ์ต่อไปยังศาลอื่น ๆ  ได้  ผู้พิพากษาของศาลสูงมีทั้งหมด  9  คน  มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดีซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของวุฒิสภาเสียก่อน  โดยอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตเว้นแต่จะลาออก ทั้งนี้ ศาลสูงมีอำนาจหน้าที่ในการตีความกฎหมายโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ  และมีอำนาจในการลงมติขับไล่ประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง  แต่ก็อาจถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงสองในสาม(ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2552:57)
                                เมดิสันนั้นถือกันว่า เป็นผู้สะท้อนความคิดของคนสมัยนั้นมากที่สุด จากการที่เขามีแนวความคิดก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็ไม่หลงใหลหรือหลงละเมอกับคำว่า
เสียงของประชาชนเสมอไป เขาคิดว่า มนุษย์เรามักเข้าข้างตนเอง สามารถทำความชั่วได้เสมอ ฉะนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการที่จะเป็นสองอย่างควบคู่กันไป คือ ประการแรก จะต้องหาวิธีการสร้างรัฐบาลกลางให้เข็มแข็งพอที่จะปกครองคนได้ และประการที่สอง จะต้องหาวิธีการที่จะสร้างกลไกเพื่อให้รัฐบาลควบคุมตนเอง ในการสร้างรัฐบาลเพื่อให้มนุษย์ปกครองมนุษย์กันเอง ความยากลำบากจึงอยู่ที่ว่า ประการแรก จะต้องให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางเพื่อที่จะสามารถควบคุมผู้อยู่ใต้ปกครองได้ กำหนดให้รัฐบาลสามารถควบคุมตนเองได้ และจำเป็นจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นไว้เพื่อป้องกันผลเสียหาย เสรีภาพและเสถียรภาพมั่นคงระหว่างการสร้างรัฐบาลชาติให้มีอำนาจ ปกครองประเทศได้ ขณะเดียวกันธำรงรักษาสิทธิเสรีภาพของมลรัฐที่จะปกครองตนเองในระดับหนึ่ง(http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/comparative_politics/07.html)
                                ข้อดีและข้อเสียของ ระบอบประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้แก่ ฝรั่งเศส อินเดีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
 1. ข้อดีของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
               1.1 เปิด โอกาสให้ประชาชน ส่วนข้างมากดำเนินการปกครองประเทศ โดยประชาชนส่วนข้างน้อยมีสิทธิที่จะดำรงอยู่และทำการคัดค้านการปกครองของ ฝ่ายข้างมากได้ ข้อดีข้อนี้มีส่วนทำให้เกิดผลดีต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม เนื่องจากการตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยฝ่ายเสียงข้างมากนั้นย่อมจะมีความถูกต้องมากและผิดพลาดน้อย ขณะเดียวกันฝ่ายเสียงข้างน้อยจะคอยเป็นกระจกเงา และท้วงติดผลเสียที่จะต้องป้องกันมิให้เกิดขึ้นตลอดเวลา
               1.2 เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเสมอหน้ากัน ตัวอย่างเช่น ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน มีสิทธิที่จะรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองและสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ประชาชนมีโอกาสเลือกคนดีและมีความสามารถเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว
                1.3 ถือกฎหมายเป็นมาตรฐานในการดำเนินการปกครอง โดยใช้กฎหมายบังคับแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือประชาชน ยังผลให้ทุกคนเสมอกันโดยกฎหมาย 
               1.4 ช่วยระงับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเองโดยสันติวิธี โดยมีศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งช่วยทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยมีกฎหมายเป็นกรอบของความประพฤติของทุกคน
                                2. ข้อเสียของระบอบประชาธิปไตย ที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
               2.1 มีความล่าช้าในการตัดสินใจทำการต่าง ๆ เนื่องจากต้องมีการปรึกษาหารือและผ่านขั้นตอนมาก เช่นการตรา กฎหมายแต่ละฉบับต้องใช้เวลาบางครั้งหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน เนื่องจากต้องมีการอภิปรายกันในสภา และแก้ไขปรับปรุงกันมากกว่าจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขโดยรีบ ด่วน จึงมักจะคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศของตน
               2.2 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการปกครองมาก ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ หรือเลือกตั้งประธานาธิบดีแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินทองเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้นำประเทศที่กำลังพัฒนามักคิดว่าประเทศของตนยากจนเกินไปที่จะใช้ระบอบ ประชาธิปไตยได้
               2.3 อาจนำไปสู่ ความสับสนวุ่นวายได้ ถ้าประชาชนส่วนมากในประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ไม่รู้จักใช้สิทธิเสรีภาพให้อยู่ภายในกรอบของกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้ประเทศชาติเจริญช้าลงอีก ด้วยเหตุนี้ผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศ จึงคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับประเทศของตน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย
                                โดยสรุป รูปแบบการปกครองของสหรัฐ อาจจะเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยพหุนิยม
(Pluralist Democracy) คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายอยู่หลายขั้วหลายศูนย์ นอกจากนั้นยังมีรูปแบบของระบบประธานาธิบดีซึ่งรวมบทบาทของประมุขและของนายก รัฐมนตรีไว้ในคนๆ เดียวกัน จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคุณสมบัติตรงที่มีความเรียบง่าย (Simplicity) ไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย แต่เปิดทางกว้างๆ ไว้เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต(http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/comparative_politics/08.html)  
การปกครองฝรั่งเศส : ระบบสาธารณรัฐที่ 5     
                                จากยุคสมัยการปฏิวัติ ค.ศ.1789 ได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่น้อยกว่า 9 ฉบับ ในรอบ 200 ปี เนื่องด้วยอุปนิสัยของชาวฝรั่งเศสที่ชอบลัทธิอุดมการณ์ และชอบความแตกต่างระหว่างบุคคล ในสมัยสาธารณรัฐที่ 4 ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง เสถียรภาพของคณะรัฐบาลมีปัญหามากที่ ในช่วงเวลา 12 ปี ของสาธารณรัฐนี้ (1946-1958) มีรัฐบาลถึง 13 ชุด แต่ในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 รัฐบาลแต่ละชุดอยู่ได้ยั่งยืนมาก และนี่ก็ปกครองกันมาถึง 32 ปี แล้วยังมีเถียรภาพดีอยู่ ฉะนั้น ทั่วโลกจึงสนใจรัฐธรรมนูญฉบับที่นายพลเดอโกลได้จัดตั้งขึ้นมากว่า มีเคล็ดลับที่ทำให้ชนชาติฝรั่งเศสที่มีอารมณ์ผันแปรง่าย เดินขบวนง่าย กบฏก็ง่าย  ปฏิวัติก็ง่าย แต่บัดนี้กลับสงบเงียบ และยังไม่มีทีท่าอยากจะเปลี่ยนไปเป็นระบบอื่น ประเทศฝรั่งเศสในสมัยเริ่มแรกก็มีระบบการปกครองคล้ายคลึงกับของอังกฤษในสมัย ยุคศักดินา คือ อำนาจการปกครองกระจัดกระจายไปอยู่ที่ขุนนางต่างๆ กษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยกลางมีความอ่อนแอกว่าของอังกฤษมาก บางยุคสมัยปกครองได้เพียงครึ่งหนึ่งของประเทศในปัจจุบัน อาจจะเป็นเพราะสภาพการณ์เช่นนั้น จึงทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสมุ่งสร้างอำนาจส่วนกลางมากจนกระทั่งในสมัยพระเจ้า หลุยส์ที่14 กษัตริย์ฝรั่งเศสที่ชาวยุโรปถือกันว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ปกครอง คือ มีอำนาจมาก ได้จัดระเบียบการคลัง
                                 การปกครองทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพสูง ถือกับทรงกล่าวเกี่ยวกับพระองค์เองว่า
รัฐคือตัวข้าพเจ้าหรือตัวข้าพเจ้าคือรัฐและเพราะความเข้มแข็งของพระมหากษัตริย์ ความเป็นอยู่ของขุนนางก็เริ่มเหินห่างจากประชาชนในชนบท หลังจากในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ไม่มีกษัตริย์ที่ทรงเข้มแข็งและอัจฉริยะ และเกิดปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ เพราะการสงครามนอกประเทศ ระบบการคลังเริ่มล้มเหลว ขณะเดียวกัน ขุนนางไม่ได้เอาใจใส่ต่อการปรับปรุงที่ดินของตน คอยแต่จะรีดภาษีและส่วยของราษฎร ทำให้เกิดระบบการกดขี่และระบบอภิสิทธิ์มากมาย ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ประจวบกับการตื่นตัวทางความคิด นักปรัชญาเมธีเริ่มเผยแพร่ลัทธิ และแนวคิดใหม่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ระบบการปกครองก็ไม่สามารถจะปรับตัวให้ทันกับปัญหาและการเปลี่ยนแปลงเหล่า นี้ ในที่สุดได้เกิดการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ.1789 และเกิดการต่อสู้และความรุนแรงทางความคิดระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ
                                 ในช่วง
1789-1795 ทำให้ชาวฝรั่งเศสแตกแยกทางความคิด และด้วยความเป็นชนชาติเชื้อสายละตินซึ่งมีอารมณ์ศรัทธาในแนวคิดของตน เองอย่างมาก จึงไม่มีการประนีประนอมกัน  ความขัดแย้งกันและปัญหาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ จะข้อนำมาเป็นประเด็นในการพิจารณา โดยจะเปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญปี 1946 ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายมีอิทธิพลในการร่าง กับรัฐธรรมนูญ ปี ค.ศ.1958 ซึ่งนายพลชาร์ล เดอ โกล และนักการเมืองฝ่ายขวามีอิทธิพลในการร่าง  ประการแรก ควรจะตั้งเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับแรกของฝรั่งเศสเกิดจากการปฏิวัติครั้งสำคัญที่สุดใน ประวัติศาสตร์อุดมการณ์ของนักปฏิวัติจึงมีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญนี้ และฉบับอื่นๆ ที่ตามมา อุดมการณ์เหล่านี้ สรุปเป็นคำขวัญได้ 3 วลี คือ ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 4 และที่ 5
                                  นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงหลักอธิปไตยเป็นของปวงชนและเจตนาที่จะสร้างระบบการปกครองแบบ ประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึง การปกครองของประชาชน เพื่อประชาชน อุดมการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญอังกฤษหรืออเมริกา
  ประการที่สอง  เนื่องจากฝรั่งเศสเริ่มประวัติศาสตร์สมัยใหม่โดยการล้มระบบกษัตริย์ ฉะนั้นระบบสาธารณรัฐจึงเป็นทางเลือกที่ต้องเลือก ในระบบของฝรั่งเศส จะแยกอำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีออกจากอำนาจหน้าที่ของ นายกรัฐมนตรี เมื่อได้แยกบทบาทเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของประธานาธิบดีซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายๆ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และส่วนของนายกรัฐมนตรีจึงมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี
                                การร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เพื่อแบ่งแยกบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ของสองตำแหน่งนี้ จึงมีปัญหาอยู่เสมอในรัฐธรรมนูญปี 1946 ของสาธารณรัฐที่ 4 อำนาจของประธานาธิบดีจะน้อยกว่าในรัฐธรรมนูญปี 1958 ของสาธารณรัฐที่ 5  ประการแรก ในฉบับ 1946 รัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ในฉบับ 1958 ผู้เลือกตั้งคือ สมาชิกของรัฐสภา นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาท้องถิ่น ซึ่งทำให้ฐานอำนาจของประธานาธิบดีของสาธารณรัฐที่ 5 กว้างกว่าในสมัยสาธารณรัฐที่ 4 ต่อมาในปี ค.ศ.1962 ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนผู้มีคุณสมบัติเลือกตั้งเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งทำให้ฐานอำนาจของประธานาธิบดีเป็นอิสระจากรัฐสภา ประการที่สอง ในรัฐธรรมนูญ 1946 ประธานาธิบดีมีอำนาจเสนอตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่การแต่งตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบด้วยเสียก่อน
                                 แต่ในรัฐธรรมนูญ
1958 ประธานาธิบดีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง นอกจากนั้นประธานาธิบดีจะมีบทบาทที่เด่นชัดในเรื่องการต่างประเทศและมีอำนาจ ประกาศสภาวะฉุกเฉิน อำนาจที่จะขอประชามติทั่วประเทศในเรื่องที่สำคัญของชาติ เรื่องเกี่ยวกับประชาคมยุโรป สนธิสัญญาระหว่างประเทศ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประการที่สาม  ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 1946 ยังเป็นความสัมพันธ์ที่คล้ายกับรัฐธรรมนูญอังกฤษ กล่าวคือ รัฐสภาจะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีและตัวรัฐมนตรีก็มาจากสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎรหรือวุฒิสภา แต่ได้ฉบับ 1958 ได้แบ่งแยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติคล้ายกับของสหรัฐ ซึ่งก็คือ ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจากสมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา ในฉบับปี 1946 ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ในฉบับ 1958 ได้ให้อำนาจทั้งสองสภาที่จะอภิปรายไม่วางใจ ทั้งนี้ทั้งสองฉบับกำหนดไว้เหมือนกันว่าก่อนลงคะแนนเสียงต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง หลังจากยุติการอภิปรายไปแล้ว เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสทบทวนความรู้สึกต่างๆ
                                 ในรัฐธรรมนูญฉบับ
1946 ได้ให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีที่จะเสนอให้ประธานาธิบดียุบสภาได้ แต่จะกระทำไม่ได้ในช่วง 18 เดือนแรก ยกเว้นแต่สภาผู้แทนฯ ได้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 ครั้ง ในช่วง 18 เดือนนี้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ลดช่วงเวลา 18 เดือน เหลือเพียง 1 ปี  ประการที่สี่ ได้มีการแก้ไขจากแต่เดิมที่มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทน ให้มีสองสภา แต่ก็ยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจน้อยลงให้เป็นเพียงกลั่นกรองงานเท่านั้น โดยสรุป รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับของฝรั่งเศสแตกต่างกันในแง่การมอบอำนาจให้แก่ ประธานาธิบดีซึ่งมีมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น อำนาจในการยุบสภา อำนาจการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อำนาจในการประกาศสภาวะฉุกเฉิน และอำนาจในการควบคุมนโยบายการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ  ประกอบกับฐานอำนาจของสาธารณรัฐที่ 5 มีบทบาทในฐานะผู้นำของประเทศเด่นชัดมากขึ้น ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ การแบ่งแยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้รัฐบาลเป็นอิสระจากแรงกดดันของรัฐสภามากขึ้น วุฒิสภาก็มีความเป็นอิสระจากสภาผู้แทนฯ มากขึ้น (ซึ่งแต่เดิม สภาผู้แทนฯ สามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 6 ของจำนวนทั้งหมด) เพราะมีฐานอำนาจจากการเลือกตั้งจากภูมิภาค จังหวัด และเทศบาล 
                                  
การกำหนดรัฐธรรมนูญที่เน้นอำนาจบริหารมากขึ้น และวุฒิสภาก็ถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้เป็นผลงานของนายพลเดอ โกล และพรรคการเมืองฝ่ายขวา และฝ่ายกลางซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเมืองฝรั่งเศสมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่า ครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ในสาธารณรัฐที่
4 ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบอัตราส่วน ทำให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย แต่ในสาธารณรัฐที่ 5 ใช้ระบบแบ่งเขต เขตละ 1 คน ให้มีการลงคะแนนเสียงได้ 2 ครั้ง ระบบนี้ทำให้จำนวนพรรคน้อยลง และยังทำให้ระบบการเมืองของฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นไปมากกว่าภายหลังสงคราม จำนวนพรรคการเมืองลดลงจากเดิมในปี ค.ศ.1956 ซึ่งมีพรรคการเมือง 16 พรรค ได้ลดลงเหลือ 5 พรรค ใน คศ.1967 จากแต่เดิมที่พรรคมุ่งหาอิทธิพลให้แก่พรรคตนเอง โดยไม่สามารถจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ในระบบใหม่พรรคเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น และมุ่งจะจัดตั้งรัฐบาล(
http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=208.0)
                               
ระบบการเมืองการปกครองของประเทศฝรั่งเศส  สาธารณรัฐฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  แบบสาธารณรัฐเดี่ยวกึ่งประธานาธิบดี  รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ประกาศใช้เมื่อวันที่  28  กันยายน  2501  โดยผ่านการลงประชามติ  สาระสำคัญในรัฐธรรมนูญนั้นคือการเพิ่มอำนาจประธานาธิบดี  อำนาจฝ่ายบริหารนั้นถูกแบ่งออกและมีหัวหน้า  2  คน  ซึ่งก็คือประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ  ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงแบบสากล  มีวาระ  5  ปี  มีตำแหน่งประมุขแห่งรัฐอีกด้วย  และมีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี(บวรศักดิ์  อุวรรณโณ,2540:89)  รัฐสภาฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น  2  สภา  ได้แก่  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภา  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนในเขตเลือกตั้ง  มาจากการเลือกตั้งโดยตรง  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี  และเสียงข้างมากในสภาสามารถกำหนดการตัดสินใจของรัฐบาลอีกด้วย  สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้ง  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  6  ปี  ซึ่งระบบการเมืองการปกครองของฝรั่งเศสแบ่งออกเป็น  3  ฝ่ายได้แก่(ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2540:102)  ฝ่ายบริหาร  ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ  มาจากการเลือกตั้งทั่วไป  มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีตามการเสนอแนะของนายกรัฐมนตรี  นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล  โดยการเสนอชื่อจากเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติ  (National  Assembly)  และแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี(บวรศักดิ์  อุวรรณโณและชาญชัย  แสวงศักดิ์,2540:64)  ฝ่ายนิติบัญญัติรัฐสภาฝรั่งเศส ประกอบด้วย 2 สภาคือ
                                1.สภาผู้แทนราษฎร(Assemblée  Nationale)ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศโดยระบบเลือกตั้งเสียงข้างมากเขตละคน(single-member  majority  system) มีวาระการดำรงตำแหน่ง  5  ปี  มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 577 คน  การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.. 2555  (..  2012)
                                2.วุฒิสภา(Sénat) มีจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 343 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านคณะผู้เลือกตั้ง(Electoral  College) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี แต่ระหว่างปี พ.. 2549 - 2554(..  2006 - 2011) จะมีการเพิ่มจำนวนวุฒิสมาชิกอีก15 คน รวมเป็น 348  ที่นั่ง และนับจากปี พ.. 2551(..  2008)  จะมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ครึ่งหนึ่งทุก 3  ปีการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนกันยายน พ..  2557(..2014)(อภิญญา  แก้วกำเนิด,2544:64) ฝ่ายตุลาการ ระบบศาลประกอบด้วย
                                1.Supreme Court of Appeals หรือ Cour de Cassation
                                2.Constitutional Council  หรือConseil Constitutionnel
                                3.Council of State หรือConseil d'Etat

                                ประเทศฝรั่งเศสถือเป็นต้นแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีโดยระบบการเมืองการปกครองและสถาบันการเมืองการปกครองของฝรั่งเศสได้มีพัฒนาการมายาวนาน  ดังจะเห็นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 1958  ซึ่งได้ระบุบทบาทหน้าที่ของสถาบันต่างๆไว้  โดยได้มีการแก้ไขรายละเอียดบางส่วนของรัฐธรรมนูญดังกล่าวหลายครั้ง(บวรศักดิ์  อุวรรณโณและชาญชัย  แสวงศักดิ์,2540:93-95)  เช่น  การให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง  ในปี  ค.ศ.1962  การเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับการรับโทษทางอาญาของรัฐมนตรี  ในปี  ค.ศ.1993  การให้มีการประชุมสภาเพียงสมัยเดียว  การขยายขอบข่ายที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ ในปี  ค.ศ.1995  การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและเงินตรา  การให้หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกันสำหรับการอยู่ในวาระเลือกตั้ง และการดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง การยอมรับขอบข่ายอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในปี  ค.ศ.1999  และการลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี  ในปี ค.ศ.2000 (ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2552:101)ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี(Semi - Parliamentary  Semi - Presidential  System) เป็นการปกครองที่รวมหลักการสำคัญของระบบรัฐสภาและระบบประธานาธิบดีเข้าด้วยกัน  เพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหารมากขึ้นกว่ารัฐสภา ซึ่งลักษณะสำคัญของการปกครองระบบดังกล่าว ได้แก่ การที่มีประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของประเทศมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยไม่ผ่านทางรัฐสภา  มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยไม่ต้องมีรัฐมนตรีลงนามกำกับ  มีอำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร  และร่วมบริหารประเทศกับนายกรัฐมนตรี  โดยฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจบังคับให้รัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่งได้โดยการเปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ  แต่ไม่มีอำนาจในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี(อภิญญา  แก้วกำเนิด,2544:72)  ซึ่งระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีแบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ
                               
1.สถาบันนิติบัญญัติ  รัฐสภาประกอบไปด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยตรง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ  5  ปี  ส่วนวุฒิสภาจะมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม  กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกสภาจังหวัด  และผู้แทนสภาเทศบาลจะเป็นผู้เลือกแทนประชาชน  ซึ่งรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญได้แก่  การออกกฎหมาย  การควบคุมและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องแถลงนโยบายต่อสภาโดยต้องได้รับเสียงข้างมาก ถ้าสภาลงมติไม่รับนโยบาย นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบโดยการลาออก  สภาสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ นอกจากนี้  สภามีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้บริหารศาลยุติธรรมสูงสุด และสามารถยื่นฟ้องประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีต่อศาลได้
                                2.สถาบันฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน เป็นทั้งผู้นำสูงสุดและผู้นำฝ่ายบริหาร เป็นผู้นำของทุกเหล่าทัพ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี(บวรศักดิ์  อุวรรณโณและชาญชัย  แสวงศักดิ์,2540:64) 
                                ประธานาธิบดีเป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี มีอำนาจในการอนุมัติ ตัดสินใจ และลงนามกฎหมาย และสามารถประกาศยุบสภา ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอรายชื่อ  ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเสียงข้างมากในสภาซึ่งไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคเดียวกับประธานาธิบดีก็ได้

                                ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศและเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับดูแลกิจการต่างๆ ของรัฐบาล และดูแลการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ  ซึ่งคณะรัฐมนตรีสามารถเสนอร่างกฎหมายผ่านสภาได้
                                3.สถาบันตุลาการ ระบบศาลของประเทศฝรั่งเศสเป็นระบบศาลคู่ คือมีศาลฎีกา(Tribunal  de  Cassation) เป็นกระบวนการยุติธรรมชั้นสูงสุด รับผิดชอบการพิจารณาตรวจสอบข้อกฎหมายของอรรถคดีที่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นพิพาทระหว่างประชาชนด้วยกันเอง  และมีสภาแห่งรัฐหรือศาลปกครองสูงสุด  (Conseil  d’Etat)  ทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน(ชาญชัย  แสวงศักดิ์,2552:133)
                                นอกจากนี้สภาแห่งรัฐยังเป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายหรือกฤษฎีกาบางฉบับที่รัฐบาลส่งเรื่องมาเพื่อขอทราบความเห็น  ทั้งนี้ ศาลอยู่ภายใต้ระบบราชการประจำ ศาลทางการเมืองได้แก่  ศาลยุติธรรมสูงสุด  ใช้พิจารณาคดีความผิดของบุคคลสำคัญ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือคดีทางการเมืองที่มีความสำคัญ มาจากการเลือกตั้งโดยสภาล่างและสภาสูงจำนวนเท่าๆกัน  ตุลาการรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทอันเกี่ยวข้องกับการใช้รัฐธรรมนูญ(บวรศักดิ์  อุวรรณโณและชาญชัย  แสวงศักดิ์
,2540:48)                   โดยสรุป รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับของฝรั่งเศสแตกต่างกันในแง่การมอบอำนาจให้แก่ ประธานาธิบดีซึ่งมีมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น อำนาจในการยุบสภา อำนาจการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อำนาจในการประกาศสภาวะฉุกเฉิน และอำนาจในการควบคุมนโยบายการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ ประกอบกับฐานอำนาจของสาธารณรัฐที่ 5 มีบทบาทในฐานะผู้นำของประเทศเด่นชัดมากขึ้น
                                ความแตกต่างที่สำคัญอีกอย่าง ก็คือ การแบ่งแยกอำนาจบริหารกับอำนาจนิติบัญญัติ ทำให้รัฐบาลเป็นอิสระจากแรงกดดันของรัฐสภามากขึ้น วุฒิสภาก็มีความเป็นอิสระจากสภาผู้แทนฯ มากขึ้น (ซึ่งแต่เดิม สภาผู้แทนฯ สามารถเลือกสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 6 ของจำนวนทั้งหมด) เพราะมีฐานอำนาจจากการเลือกตั้งจากภูมิภาค จังหวัด และเทศบาล           การกำหนดรัฐธรรมนูญที่เน้นอำนาจบริหารมากขึ้น และวุฒิสภาก็ถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้เป็นผลงานของนายพลเดอ โกล และพรรคการเมืองฝ่ายขวา และฝ่ายกลางซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้การเมืองฝรั่งเศสมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่า ครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
                                ในสาธารณรัฐที่ 4 ใช้ระบบ
การเลือกตั้งแบบอัตราส่วน ทำให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย แต่ในสาธารณรัฐที่ 5 ใช้ระบบแบ่งเขต เขตละ 1 คน ให้มีการลงคะแนนเสียงได้ 2 ครั้ง ระบบนี้ทำให้จำนวนพรรคน้อยลง และยังทำให้ระบบการเมืองของฝรั่งเศสพัฒนาขึ้นไปมากกว่าภายหลังสงคราม จำนวนพรรคการเมืองลดลงจากเดิมในปี ค.ศ.1956 ซึ่งมีพรรคการเมือง 16 พรรค ได้ลดลงเหลือ 5 พรรค ใน ค.ศ.1967 จากแต่เดิมที่พรรคมุ่งหาอิทธิพลให้แก่พรรคตนเอง โดยไม่สามารถจะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ในระบบใหม่พรรคเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น และมุ่งจะจัดตั้งรัฐบาล (http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/comparative_politics/09.html)