วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การนำเสนอเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์ หลักสูตรปรัชญญาดุษฎีบัณฑิต(สื่อสารการเมือง)

เสนอโดย : นายรหัส แสงผ่อง

หัวข้อดุษฎีนิพนธ์ :

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี : ศึกษากรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555
1.ที่มาและความสำคัญของปัญหา

การกระจายอำนาจการปกครองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพ เมื่อ ปี พ.ศ.2440 มีการพัฒนาอย่างเชื่องช้า จนเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 การกระจายอำนาจการปกครองจึงได้ดำเนินการอย่างจริงจังเป็นลำดับ จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นรัฐที่กระจายอำนาจล่าช้า(Late decentralizing state) เพราะใช้เวลานานถึง 100 ปี(พ.ศ.2440-2540) เมื่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ให้อำนาจประชาชนในท้องถิ่น เลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชน และองค์กรชุมชนโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นราชการส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ตามกฎหมายกำหนด มีอำนาจอิสระในการกำหนดนโยบายแผนงาน โครงการพัฒนา ภายใต้กรอบกฎหมาย กรอบงบประมาณ และงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน โดยการใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำไปบริหารพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการดำเนินการพัฒนาท้องถิ่น ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และศักยภาพการบริหารงานของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เป็นสำคัญ ที่มีบทบาทหน้าที่ตามกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ กระบวนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มีเขตเลือกตั้งกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมาก และมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)มีความสำคัญมาก องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีขอบเขตอำนาจหน้าที่กว้างขวางภายในจังหวัด เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด การบริหารงานหรือการกระทำใดๆของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ของหน่วยงานภาครัฐที่มาจากการเลือกตั้งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สภาพเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) จะต้องบริหารงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสามารถตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและรับรู้ปัญหาของท้องถิ่นเป็นอย่างดี ตลอดจนมีความคุ้นเคยกับคนในชุมชน กระบวนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง(election campaign)นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี จึงมีความสำคัญสูงสุด ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความน่าสนใจสูงสุด การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งปรากฏว่านายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรีเบอร์1 บุตรชายนายสุนทร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์หรือเสี่ยฮุก ผู้กว้างขวางในวงการค้าไม้ และเป็นสามีนางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 184,590 คะแนน ส่วนพล.โท มะ โพธิ์งาม ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เบอร์2 อดีต ส.ส.กาญจนบุรีเขต1 เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น10 รุ่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ 143,819 คะแนน การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองท้องถิ่นกาญจนบุรี เริ่มจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นกับกลุ่มการเมืองระดับชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการคิดการแข่งขันอย่างพลิกโฉม เพราะเดิมเป็นแค่ท้องถิ่นสู้กับท้องถิ่น แต่ตอนนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรีกลายเป็นเวทีระดับชาติและจะพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางการค้าระดับประเทศในภูมิภาคนี้ จึงทำให้สีสันการหาเสียงเข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นการศึกษากระบวนการสื่อสารทางการเมืองการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมประการใดที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 เป็นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของประเทศไทย ศึกษากรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรีเป็นอย่างไร ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการ จึงประสบความสำเร็จ

2.ปัญหานำการวิจัย

2.1 บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมประการใดที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กรณีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 เป็นอย่างไร ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการ

2.2 กระบวนการสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรีเป็นอย่างไร ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการ

3.วัตถุประสงค์ของการวิจัย

3.1 เพื่อศึกษาถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555

3.2 เพื่อศึกษาถึงการบวนสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี มีรูปแบบ เนื้อหา และวิธีการอย่างไร

4.ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

4.1 ได้ทราบถึงบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ส่งผลต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555

4.2 ได้ทราบถึงกระบวนสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กาญจนบุรี ที่ประสบความสำเร็จ

4.3 ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่ในกระบวนสื่อสารการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

5.ระเบียบวิธีวิจัย

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ(qualitative research) โดยผู้วิจัยเข้าไปใกล้ชิดสถานการณ์และกลุ่มบุคคลที่ศึกษาเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตนเองและด้วยประสบการณ์ตรง หลักอัตวิสัย(intersubjectivity) และเก็บข้อมูลเชิงสัญญะ ประกอบการวิจัยเชิงตีความ(interpretive research) เครื่องมือการศึกษาเก็บข้อมูลที่มีความยืดหยุ่นสูงและปรับเปลี่ยนไปตามบริบท และใช้เทคนิคในการเก็บข้อมูล การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก(in-depth interview) การสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วม(non-participant observation) กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก(key informance)ได้แก่ตัวผู้สมัคร นักการเมืองระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการยุทธศาสตร์การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำนวนประมาณ 20-30 คน

6.ขอบเขตของการวิจัย

การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเพื่ออนาคตศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูล จึงกระทำในห้วงเวลาหนึ่งโดยสกัดความคิดเห็นของตัวผู้สมัคร และบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดขอบเขตของการวิจัยดังนี้

6.1 ขอบเขตด้านเวลา ศึกษาในห้วงเวลาระหว่างปี พ.ศ.2555

6.2 ขอบเขตด้านเนื้อหา ศึกษาทฤษฎีการสื่อสารการเมือง แนวคิดเรื่องการตลาดทางการเมือง(Political Marketing) แนวคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์ ทฤษฎีการสื่อสารสองทาง(two-step flow) งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

7.กรอบแนวคิดทฤษฎี : ทฤษฎีที่เลือกใช้ประกอบด้วย

7.1 ทฤษฎีการสื่อสารการเมือง
7.2 แนวคิดเรื่องการตลาดทางการเมือง(Political Marketing)
7.3 แนวคิดเรื่องระบบอุปถัมภ์
7.4 ทฤษฎีการสื่อสารสองทาง(two-step flow)
7.5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง